วันอังคาร, 24 ธันวาคม 2567

สาธารณสุขฯ เชียงใหม่ เตรียมพร้อมรับผู้ป่วยขาดเหล้า สสส.แนะนักดื่มทำยังไงไม่ให้ลงแดง

Social Share

สาธารณสุขฯ เชียงใหม่ เตรียมพร้อมรับผู้ป่วยขาดเหล้า สสส.แนะนักดื่มทำยังไงไม่ให้ลงแดง ช่วงห้ามขายเหล้าป้องกันโควิด-19

11 เม.ย. 63 : นายวรัญญู จำนงประสาทพร นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จากกรณีที่มีประกาศของจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีคำสั่งห้ามจำหน่ายสุรา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ตั้งแต่วันที่ 10 – 20 เมษายน 2563 ตามคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ที่ 11/2563 เรื่องปิดสถานที่หรือพื้นที่จำหน่าย หรือเครื่องดื่มแลกอฮอล์ทุกชนิด ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีโอกาสเกิดอาการเนื่องจากภาวะขาดสุรา (Alcohol Withdrawal Syndrome) เพิ่มสูงขึ้น

ทางจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ประสานมาทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมประสานไปยังโรงพยาบาล และ รพ.สต. ให้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว ตามแนวปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยภาวะขาดสุรา โดยวิธีการรักษาก็จะให้ยาเพื่อลดพิษสุรา และรักษาตามอาการของผู้ป่วย

สำหรับในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ช่วงที่ผ่านมาก็มีผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรังมารักษาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีจำนวนไม่มาก แต่ก็มีกลุ่มคนเหล่านี้อยู่ ซึ่งอาการจะเห็นได้ชัดเจนอย่างแรก คืออาการป่วย ต้องมาเข้ารับการรักษา บางรายก็จะเกิดอาการโวยวาย เสียงดัง ซึ่งเป็นอาการที่แสดงออกจากภาวะขาดสุรา ซึ่งการประกาศห้ามจำหน่ายสุรานั้น ก็เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นการลดการชุมนุมกันเป็นจำนวนมากและจะเกิดความเสี่ยงได้ แต่อีกกลุ่มคือ การดื่มสุราเป็นประจำอยู่แล้ว ไม่ได้ไปดื่มร่วมกับผู้อื่น ซึ่งกลุ่มนี้ก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน

ด้านศูนย์วิจัยปัญหาสุรา และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ออกแนวทางปฏิบัติข้อแนะนำสำหรับผู้ดื่มสุราในช่วงโควิด-19 ดังนี้

  1. ไม่เคยมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ว่าการดื่มแอลกอฮอล์ช่วยป้องกันหรือฆ่าเชื้อไวรัสได้ ในทางกลับกัน การดื่มสุรายิ่งทำให้ตับถูกทำลายลดภูมิต้านทานต่อเชื้อโรค เพิ่มความเสี่ยงและความรุนแรงของการติดเชื้อ ลดการตอบสนองต่อยารักษาโรคภาวะติดเชื้อโรคโควิด-19
  2. ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้ยาเสพติดเพื่อจัดการกับความเครียด ความวิตกกังวล ความกลัว หรือความเบื่อหน่ายจากการที่ต้องแยกตัวจากสังคม
  3. ในช่วงที่ต้องกักตัวอยู่คนเดียว ไม่ความดื่มสุราปริมาณมาก หรือดื่มติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะคุณอาจจะดื่มมากเกินขนาด ทำให้มึนเมา หกล้ม บาดเจ็บ หรือแอลกอฮอล์กดการหายใจ จนหมดสติ และอาจถึงตายได้ เพราะไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
  4. หากคุณเป็นนักดื่มซึ่งดื่มเป็นประจำ และอยู่ในพื้นที่ห้ามขายเหล้า คุณควรจะค่อยๆ ลดปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่มลง จนสามารถหยุดดื่มได้ทั้งหมด ซึ่งท่านที่ต้องการเลิกสุรา หรือต้องการลดปริมาณการดื่ม ติดต่อโรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือปรึกษาสายด่วน 1413 หากมีอาการมือสั่น อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว สับสน
  5. ช่วงนี้จะเป็นช่วงทองแห่งชีวิตที่คุณจะเลิกดื่มสุราได้เด็ดขาด เพราะไม่มีคนมาชวนให้คุณดื่ม และไม่มีร้านเหล้าเปิดให้คุณนั่งดื่มสังสรรค์รวมตัวกัน แล้วคุณจะพบว่า เมื่อหยุดดื่มแลกอฮอล์สุขภาพกายและสุขภาพจิตของคุณและคนรอบข้างจะดีขึ้นอย่างชัดเจน
  6. ระมัดระวังไม่ตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาส่งเสริมการตลาดของธุรกิจแอลกอฮอล์ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่เป็นผลจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะคงอยู่กับประเทศไทยไปอีกนาน เราจึงควรระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย โดยสั่งซื้อเฉพาะของที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเท่านั้น

เราจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน ขอเพียงทุกคนร่วมมือร่วมใจกันดูแลตนเอง อยู่บ้าน เว้นระยะห่างทางสังคม เราะจะไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง แม้แต่ผู้ติดเหล้าติดยา ซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งของสังคม