วันพฤหัสบดี, 21 พฤศจิกายน 2567

AIS โชว์ศักยภาพผลประกอบการปี 2564 รายได้รวม 181,333 ล้านบาท เติบโต 4.9% ตอกย้ำผู้นำตลาดตัวจริงในทุกมิติ

12 ก.พ. 2022
629
Social Share

AIS โชว์ศักยภาพผลประกอบการปี 2564 รายได้รวม 181,333 ล้านบาท เติบโต 4.9% ตอกย้ำผู้นำตลาดตัวจริงในทุกมิติ เดินหน้ายกระดับองค์กรโทรคมนาคมอัจฉริยะ Cognitive Telco ทุ่มงบลงทุน 30,000-35,000 ล้านบาท ขยายโครงข่ายรองรับการเติบโตของลูกค้า

7 กุมภาพันธ์ 2565 : AIS ประกาศผลประกอบการปี 2564 โดยรวมยังคงสามารสร้างการเติบโตได้ในทุกมิติ ท่ามกลางสถานการณ์และข้อจำกัดที่ท้าทาย ทำให้รายได้รวมอยู่ที่ 181,333 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 4.9 กำไรสุทธิ 26,922 ล้านบาท ด้วยความทุ่มเทของบุคลากรกว่า 12,000 คน ในการยกระดับคุณภาพการให้บริการ คุณภาพของโครงข่ายสัญญาณ เพื่อสร้างประสบการณ์ดิจิทัลไลฟ์สไตล์ที่ตอบโจทย์ให้กับคนไทย รวมถึงการนำศักยภาพของ 5G ด้วยการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่แข็งแรงเข้าสนับสนุนการเติบโตของภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาคการผลิต และภาคอุตสาหกรรมที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ สำหรับปี 2565 เตรียมทุ่มงบลงทุนกว่า 30,000 – 35,000 ล้านบาท เพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการด้านโครงข่ายรองรับการเติบโตของลูกค้าในปีนี้อย่างต่อเนื่อง

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า “สถานการณ์ในปี 2564 เป็นอีกหนึ่งปีที่เราต้องเผชิญกับข้อจำกัดและความท้าทายอย่างมาก แต่สำหรับ AIS เรามีเป้าหมายที่ชัดเจนในการทำงานเพื่อนำศักยภาพของโครงข่ายคุณภาพมาสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มายกระดับการทำงานของภาคธุรกิจ ภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรม จะเห็นได้ว่าในปีที่ผ่านมา AIS สามารถสร้าง Digital Ecosystem ที่มีความสมบูรณ์มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่หลากหลายทั้งระดับโลก และระดับ Local เพื่อสร้างการเติบโตร่วมกันแบบสอดประสาน ทำให้ผลงานในปี 2564 อยู่ในระดับที่น่าพอใจ เป็นผลมาจากความมุ่งมั่น ทุ่มเทของคน AIS ที่มีความเข้าใจการทำงานในฐานะผู้นำตลาดที่ต้องให้ความสำคัญกับการเติบโตในทุกมิติทั้งคุณภาพและงานบริการที่เหนือกว่า”

สำหรับผลประกอบการในปี 2564 รายได้รวม อยู่ที่ 181,333 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน ในส่วนกำไรสุทธิ 26,922 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.9 เทียบกับปีก่อน ในส่วนของต้นทุน AIS ยังลงทุนขยายโครงข่าย 5G/4G อย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมความเป็นผู้นำ และการเข้ารับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพิ่มเติมในปีนี้ (ใบอนุญาต 700MHz และ 26GHz) ส่งผลให้ต้นทุนการให้บริการเพิ่มขึ้น 4.5 เทียบกับปีก่อน แต่จากการบริหารต้นทุนที่ดีในส่วนของค่าใช้จ่ายด้านการขายและบริหาร ที่ลดลงร้อยละ 11 จากปีก่อน ส่งผลให้เอไอเอสมี EBITDA อยู่ที่ 91,408 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 จากปีก่อน อีกทั้ง AIS ยังคงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งที่สุดในอุตสาหกรรม ซึ่งจะจ่ายเงินปันผลจากผลประกอบการครึ่งปีหลังที่ 4.24 บาทต่อหุ้น ในวันที่ 19 เมษายน 2565 โดยผลการดำเนินงานแยกตามรายธุรกิจดังนี้

  • ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีรายได้ลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.7 จากปีก่อน อยู่ที่ 117,244 ล้านบาท เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนตัวลงในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดรอบใหม่ตลอดทั้งปี ประกอบกับการแข่งขันที่ยังคงรุนแรงต่อเนื่องโดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคา แต่ด้วยการปรับตัวและนำเสนอประสบการณ์ดิจิทัลใหม่ๆ ให้กับลูกค้า ทำให้ในปี 2564 มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 2.68 ล้านเลขหมาย ส่งผลให้ปัจจุบันมีจำนวนลูกค้าโทรศัพท์มือถืออยู่ที่ 44.1 ล้านเลขหมาย สำหรับการเติบโตของผู้ใช้บริการ 5G มีผู้ใช้บริการ 5G แล้วกว่า 2.2 ล้านราย
  • ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ยังสามารถทำผลงานได้ดีมีอัตราการเติบโตของรายได้ที่ร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับปีก่อน นับเป็นการเติบโตเหนืออุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง มีจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้น 435,100 ราย ทำให้ AIS Fibre มีลูกค้ารวม 1,772,000 ราย ทะลุเป้าหมาย 1.6 ล้านครัวเรือนที่ตั้งไว้ในปี 2564 โดยมุ่งเน้นสร้างมาตรฐานใหม่ของการให้บริการด้วยการการันตีให้บริการภายใน 24 ชั่วโมง ทั้งการติดตั้งที่รวดเร็ว การแก้ปัญหาภายใน 24 ชั่วโมง พร้อมยกระดับตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านไปอีกขั้นด้วยแพ็กเกจความเร็วในระดับ 2Gbps ครั้งแรกในไทย ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ต้องการอินเทอร์ความเร็วสูงสุด
  • ธุรกิจบริการลูกค้าองค์กร ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง คิดเป็นร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับปีก่อน ขยายความร่วมมือกับ Microsoft ในฐานะพันธมิตรทางธุรกิจสำหรับบริการด้านคลาวด์ (Cloud) ในประเทศไทย เสริมความแข็งแกร่งในการให้บริการลูกค้าองค์กรมากขึ้น โดย AIS Business ได้เปิดตัวบริการใหม่ๆ เพื่อเสริมความแข็งแรงมากขึ้น พร้อมขยายความร่วมมือและให้บริการ 5G Solutions ยกระดับในภาคอุตสาหกรรมและโรงงานการผลิต ทั้งกระบวนการทำงานทำงานด้วยดิจิทัลเทคโนโลยีที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การทำงานร่วมกับ OMRON ในการพัฒนาโซลูชั่นใหม่ Industry 4.0 ภาคการผลิตอัจฉริยะ Smart Manufacturing การผนึกกำลังกับ Mitsubishi Electric และ ทีเคเค ส่งเทคโนโลยี Total Industrial Solution ด้วย e-F@ctory โดยมุ่งเน้นการนำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้าขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล
  • ธุรกิจดิจิทัลเซอร์วิส ในปีที่ผ่านมาเอไอเอสยังคงเดินหน้ามุ่งเสริมความเป็นผู้นำด้านบริการดิจิทัล ผ่านการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ เพื่อสร้างประสบการณ์ดิจิทัลที่สอดรับกับไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ของคนไทย ทั้งความร่วมมือกับ Disney+ Hotstar ผู้ให้บริการคอนเทนต์บนวีดีโอแพลตฟอร์ม ซึ่งเอไอเอสได้รับสิทธิ์ในการให้บริการแพ็กเกจพิเศษและทำการตลาดกับลูกค้าในประเทศไทย BBC เพิ่ม 2 ช่องพรีเมี่ยมทั้ง BBC World News และ BBC Lifestyle หรือแม้แต่คอนเทนต์กีฬาชั้นนำระดับโลกอย่างโอลิมปิก และการเอาใจแฟนบอลชาวไทยด้วยการคว้าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลไทยลีกในฤดูกาลล่าสุดอีกด้วย

นายสมชัย อธิบายเสริมว่า “พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม และพฤติกรรมของผู้บริโภค เป็นตัวกำหนดทิศทางการเติบโตที่สำคัญของเราในอนาคต ซึ่งจากปัจจัยต่างๆ ได้สะท้อนให้เราเห็นว่า AIS พร้อมที่จะก้าวสู่การเป็นองค์กรโทรคมนาคมอัจฉริยะ หรือ Cognitive Telco เพื่อต่อยอดศักยภาพของโครงข่ายสัญญาณที่เรามีในมือ ให้มีประสิทธิภาพพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้ เพื่อส่งมอบประสบการณ์ดิจิทัลที่ทัดเทียมกับประเทศชั้นนำให้กับคนไทยและภาคส่วนต่างๆ

โดยเราได้เตรียมวางงบประมาณกว่า 30,000 – 35,000 ล้านบาท เพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการด้านโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง รองรับโอกาสและการเติบโตในแง่ของผู้ใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการมองภาพใหญ่ของประเทศที่ต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเทคโนโลยีที่แข็งแรง เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ใช้เป็นจุดแข็งของประเทศในการแข่งขันและดึงดูดนักลงทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่ AIS มุ่งมั่นทำมาอย่างต่อเนื่องในฐานะผู้นำ” นายสมชัย กล่าวทิ้งท้าย