วันจันทร์, 30 ธันวาคม 2567

ท่าอากาศยานเชียงใหม่ เดินหน้าพัฒนาศักยภาพรองรับความต้องการการเดินทาง เมื่อกลับสู่ภาวะปกติ

Social Share

16 สิงหาคม 2563 : นายนิตินัย สาสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายบำรุงรักษา ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ร่วมแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์ ณ ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ เกี่ยวกับความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 ซึ่งจะดำเนินการระหว่างปี 2561-2567 โดยมีเป้าหมายรองรับผู้โดยสาร 16.5 ล้านคนต่อปี หรือเพิ่มขึ้น สองเท่า จากปัจจุบันที่มีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสาร 8 ล้านคนต่อปี ประกอบด้วยโครงการก่อสร้างทางขับขนานเส้นใหม่พร้อมทางขับออกด่วน เพื่อให้สามารถรองรับเที่ยวบินเพิ่มขึ้นจาก 24 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 29-31 เที่ยวบินต่อชั่วโมง งานก่อสร้างและปรับปรุงลานจอดอากาศยานจาก 20 หลุมจอดเป็น 31 หลุมจอด โดยเป็นหลุมจอดประชิดอาคาร 12 หลุมจอด และหลุมจอดระยะไกล 19 หลุมจอด พร้อมติดตั้งสะพานเทียบเพิ่มเติม 6 ชุด พร้อมระบบ เติมน้ำมันอากาศยานทางท่อ งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ พื้นที่ 70,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ 5.3 ล้านคนต่อปี งานปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิมเป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ พื้นที่ 48,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ 11.2 ล้านคนต่อปี และงานก่อสร้างอาคารสำนักงาน และงานปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค รวมถึงระบบถนนการจราจรภายในท่าอากาศยานเชียงใหม่

 

ทั้งนี้จากจำนวนผู้โดยสารผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาสองสามปี ที่ผ่านมา โดยในปี 2562 มีจำนวนผู้โดยสารสูงถึง 11 ล้านคน ทำให้เกิดปัญหาความแออัดคับคั่งของผู้โดยสาร ทอท.จึงได้อนุมัติแผนเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความแออัด (ดำเนินการก่อสร้างปี 2561-2566) ประกอบด้วยโครงการสำคัญ ได้แก่ งานเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความแออัดลักษณะการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน งานก่อสร้างอาคารจอดรถยนต์สัมปทาน ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วกว่าร้อยละ 90 คาดว่าจะแล้วเสร็จ ในเดือนกันยายน 2563 ซึ่งจะสามารถรองรับการจอดรถยนต์ได้ 1,300 คัน และงานก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ ประกอบด้วยพื้นที่เชิงพาณิชย์ 3 ชั้น และพื้นที่จอดรถยนต์ 400 คัน ปัจจุบันอยู่ระหว่างขออนุญาตก่อสร้าง ระยะเวลาก่อสร้าง 14 เดือน

สำหรับงานเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความแออัดอาคารสนับสนุนท่าอากาศยานเชียงใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อม สู่การพัฒนา ทชม.ระยะ 1 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบขั้นต้น (Preliminary) ประกอบด้วย 4 อาคารสนับสนุน ได้แก่ งานก่อสร้างอาคารสถานีดับเพลิงและกู้ภัย งานก่อสร้างอาคารบำรุงรักษา งานก่อสร้างอาคารคลังสินค้า และงานก่อสร้างพื้นที่สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับอุปกรณ์ภาคพื้น (Ground Service Equipment :GSE)

โดยโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 นั้น ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) เพิ่มเติมในบางประเด็น อย่างไรก็ตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะ 1 คาดว่าจะดำเนินการตามแผนในปี 2563-2567 แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาเดิม และจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid-19) ส่งผลให้จำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารลดลงจำนวนมาก โดยตั้งแต่วันที่ 1 มาราคม 2563 ถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 มีจำนวนผู้โดยสารประมาณ 2.5 ล้านคน ลดลงเกือบร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 และหลังจากที่รัฐบาลมีมาตรการผ่อนคลายออกมาเป็นระยะๆ ประกอบกับไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัส Covid-19 ภายในประเทศ ทำให้มีการเดินทางภายในประเทศมากขึ้นเป็นลำดับ ปัจจุบันมีเที่ยวบินให้บริการวันละประมาณ 100 เที่ยวบิน ผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 11,000-12,000 คน จากในเวลาปกติเฉลี่ยประมาณ 220 เที่ยวบินต่อวัน และประมาณผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 30,000 คนต่อวัน

ท่าอากาศยานเชียงใหม่ พร้อมให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ เพื่อร่วมกันฟันฝ่าวิฤตการณ์ครั้งนี้ โดยจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในการดูแลสุขอนามัยของผู้โดยสารผู้ใช้บริการ ภายใต้มาตรการต่างๆ ที่รัฐกำหนด และให้การต้อนรับดูแลอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารที่จะมาเยือนในโอกาสต่อๆ ไป หลังจากสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อให้สมกับการเป็นประตูสู่วัฒนธรรมล้านนา