วันพฤหัสบดี, 21 พฤศจิกายน 2567

ชาวบ้านตำบลป่าป้อง ดอยสะเก็ด คืนสมดุลให้ป่าชุมชนด้วยจุลินทรีย์แก้ปัญหาไฟป่า

Social Share

ชาวบ้านตำบลป่าป้อง ดอยสะเก็ด คืนสมดุลให้ป่าชุมชนด้วยจุลินทรีย์แก้ปัญหาไฟป่า

ชาวบ้านตำบลป่าป้อง ดอยสะเก็ด ร่วมกับภาคเอกชนฯ จัดกิจกรรม คืนสมดุลให้ป่าชุมชนด้วยจุลินทรีย์ แก้ปัญหาไฟป่าฟื้นนิเวศป่าไม้อย่างยั่งยืน นำตัวแทนชาวบ้านอบรมการ EM จากจุลินทรีย์ และเพาะเชื้อเห็ดป่าจากจุลินทรีย์ นำไปหว่านในป่าชุมชนบ้านทุ่งยาว ฟื้นคืนสมดุลให้ป่า นอกจากนี้ยังได้มีการนำEM น้ำไปฉีดพ่นเพื่อเร่งการย่อยสลายของซากพืชเพื่อลดเชื้อเพลิงในช่วงฤดูแล้ง นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้ตั้งศูนย์เรียนรู้และธนาคารจุลินทรีย์ เพื่อต่อยอดสร้างรายได้ให้ชุมชน

 

ที่ป่าชุมชนบ้านทุ่งยาว ต.ป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด ชาวบ้านตำบลป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด ต่างน้ำเชื้อเห็ดป่า 16 ชนิด จุลินทรีย์แห้งและน้ำ และ EM บอลที่ผลิตขึ้นจากการเข้าอมรมที่ศูนย์จุลินทรีย์ ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด มาหว่านและรด ในพื้นที่ป่าชุมชมบ้านทุ่งยาว ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ดจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อฟื้นคืนสมดุลให้ป่า เร่งการย่อยสลายของซากพืชเพื่อลดเชื้อเพลิงในช่วงฤดูแล้ง หลังจากที่บริษัทกัลฟ์ (GULF ) และ บริษัท เชียงใหม่เวสท์ ทู เอ็นเนอร์จี จำกัด (CMWTE) ร่วมกับ ชุมชนบ้านทุ่งยาว ต.ป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ได้จัดโครงการ “คืนสมดุลให้ป่าชุมชนด้วยจุลินทรีย์ “ เพื่อแก้ปัญหาไฟป่าและฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้ ณ อาคารเอนกประสงค์ บ้านทุ่งยาว ต.ป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด โดยมีนายสมพงศ์ เจริญศิริ กำนันตำบลป่าป้อง และนายจิรศักดิ์ มีสัตย์ ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ บริษัท GULF CMWTE และ เทศบาลตำบลป่าป้อง มูลนิธิเกษตรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมให้การสนับสนุนวิทยาการอบรมให้ความรู้กับชาวบ้าน

 

กิจกรรมในวันนี้ อบรม ด้านความรู้เกี่ยวกับจุลินทรีย์ และความรู้ฐานชีวภาพ (Biobased) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม ให้ชุมชนเข้าใจมิติความสัมพันธ์ของวัฏจักรธรรมชาติด้านชีววิทยากับวิถีชีวิตชุมชนและป่าไม้ ฯลฯ การรู้จักใช้จุลินทรีย์เพื่อสิ่งแวดล้อม การเกษตร และแนวทางพัฒนาอาชีพรายได้ชุมชนด้วย นอกจากนั้น มีการสาธิตจากวิทยากรและผู้เข้าร่วมลงมือปฏิบัติ การขยายเชื้อจุลินทรีย์ การหมักปุ๋ยหมักจากวัสดุท้องถิ่น เช่นใบไม้ หญ้าฟาง เศษอาหารจากครัวเรือน ผลิต ปุ๋ยหมักชีวภาพ ชนิดต่างๆ การทำจุลินทรีย์ก้อน (EM Ball) เป็นปุ๋ยและบำบัดน้ำเสีย และการเพาะชยายเชื้อเห็ดป่า เป็นต้น

 

นอกจากนี้ยัง มีกิจกรรมในป่าชุมชน คือ การคืนสมดุลให้ป่าด้วยจุลินทรีย์ ซึ่งผู้เข้าร่วมได้นำ จุลินทรีย์ชนิดน้ำชนิดแห้งไปฉีดพ่นโรย บริเวณป่าชุมชน บ้านทุ่งยาว ต.ป่าป้อง ฯ และหมักใบไม้ในป่า เพื่อเพิ่มการย่อยสลายใบไม้ซึ่งเป็นเชื้อไฟได้ และหมักเป็นปุ๋ยฟื้นฟูดินในป่าที่เสื่อมโทรมหรือเคยถูกไฟป่าเผาผลาญ ทำให้จุลินทรีย์ในดินป่าตาย นิเวศเสียสมดุล นอกจากสอนชุมชนขยายเชื้อเห็ดยังนำเชื้อเห็ดป่าหลายชนิดนำไปใส่กระจายในป่าที่โคนต้นไม้ใหญ่น้อย และยังกระจายเชื้อเห็ดในชุมชนสวนไร่นา เพื่อจะได้มีแหล่งเห็ดรับประทานในชุมชน รณรงค์ลดการเผาป่าหาเห็ดของชุมชนควบคู่กับการอนุรักษ์ป่าของชุมชน และได้นำจุลินทรีย์ก้อนไปโยนสู่ป่าและแหล่งน้ำด้วย

ด้าน ดร.กฤษณ์ พงษ์เทพิน นักวิชาการ อดีตอาจารย์ ม. เทคโนโลยีพระจอมเกล้า ฯ ลาดกระบัง เปิดเผยว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกเกิดจากภาวการณ์เสียสมดุลของระบบนิเวศน์ และวิ่งแวดล้อม จึงมีแนวคิดที่ว่าในการลดภาวะโลกร้อน และการย้อนไปสู่ยุคที่เหมือนเกิดโลกใหม่ๆ ต้องทำอย่างไรบ้าง จึงได้วิเคราะห์ดูว่าระบบฐานชีวภาพ จะสามารถอธิบายของการเสียสมดุลได้ดี ก็เลยนำยุทธศาสตร์นี้มาส่งเสริมให้กับชุมชนในเรื่องของไบโอชีวภาพ ซึ่งเรานิยามว่าการส่งเสริมยุทธศาสตร์เมืองจุลินทรีย์ ก็คือการนำเอาองค์ความรู้ด้านจุลินทรีย์ต่างๆ ส่งเสริมให้ชุมชนในการแก้ไขปัญหาไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเผาป่าเอาเห็ด หรือเผาป่าเพื่อสร้างมูลค่าบางอย่างหรือความสะดวกกในการหหาพืชพันธุ์ธัญญาหารเล็กๆน้อยๆในป่าซึ่งสร้างความเสียหายกับระบบนิเวศน์เป็นจำนวนมาก

เพราะฉะนั้นองค์ความรู้เรื่องเมืองจุลินทรีย์ ก็เลยเอาตัวจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นกลไก วัฏจักรของระบบนิเวศน์ทั้งหมดมาเป็นตัวที่จะเร่งย่อยสะลายเร่งระบบนิเวศน์ย้อนกลับมา ก็คือเอาตัวจุลินทรีย์มาเร่งย่อยสลายเศษใบไม้ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงในป่า ตลอดจนย่อยสลายอินทรียวัตถุ สิ่งที่เหลือจากภาคการเกษตร เศษอาหาร ย้อนกลับมากลายเป็นปุ๋ย ปุ๋ยน้ำ เป็น EM บอล เป็นจุลินทรีย์ ที่ใช้ในการฟื้นฟูป่า เพราะว่าจุลินทรีย์ เป็นตัวกระตุ้นทำงานกับต้นไม้ ระบบนิเวศน์ อุณหภูมิ เป็นการฟื้นฟูดินให้มีชีวิต เมื่อดินดี ก็มีต้นไม้ ป่าก็มีชีวิต

นอกจากนี้ยังมีการนำเชื้อเห็ดที่เป็นชนิดของเชื้อจุลินทรีย์ราที่เป็นเห็ดที่ขยายในชุมชนไปแพร่ขยายในป่า และส่งเสริมให้ชาวบ้านเพาะเห็ดตามเรือกสวนไร่นาซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน และจะช่วยลดให้ชาวบ้านเผาป่าหาเห็ด นอกจากนั้นสามารถนำจุลินทรีย์นำไปต่อยอดในภาคเกษตรกรรม เช่นการทำปุ๋ยใช้ในแปลงเกษตรลดการใช้สาเคมี ซึ่งจะสามารถลดค่าใช้จ่ายให้เกษตรกรได้อีกด้วย ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นเป็นที่มาของเมืองจุลินทรีย์

ก่อนหน้านี้ได้มีการเริ่มต้นการนำจุลินทรีย์มาส่งเสริมร่วมกับมูลนิธิเกษตกรรมยั่งยืนไม่ต่ำกว่า 20 ปี กับเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ เราใช้ระบบและแนวคิดเดียวกัน นำจุลินทรีย์ไปบำบัดน้ำเสีย ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ไม่ว่าจะเป็นป่าชายเลน ด้วยการนำจุลินทรีย์ฟื้นฟูดินและน้ำก่อนปลูกป่าชายเลนจนประสบความสำเร็จ

เช่นเดียวกับการปลูกป่า จะเห็นได้ว่าหลังจากปลูกแล้วส่วนใหญ่ต้นไม้จะตาย ถ้าหากเราใช้ระบบจุลินทรีย์ชีวภาพเข้าไปช่วยเอาใบไม้ทั้งหมดซึ่งเป็นอินทรียวัตถุที่กองทั่วไปในป่าแล้วเติมจุลินทรีย์เข้าไปใบไม้ กิ่งไม้ที่เป็นเชื้อเพลิงจะย่อยสลายกลายเป็นอาหารของต้นไม้ เหมือนยุคที่ป่าเติบโตเองแต่ปัจจุบันป่าไม้เสียสมดุลเนื่องจากจุลินทรีย์ในดินถูกนำลายและเหลือน้อยจากการเผาป่า และการชะลางหน้าดินของน้ำป่าที่เกิดจากการทำลายป่าไม้ และที่เรามาดำเนินการที่ป่าชุมชนแห่งนี้เราต้องการสร้างให้พื้นที่นี้เป็นภูเขาจุลินทรีย์ของชาวเชียงใหม่ เป็นต้นแบบของเมืองเชียงใหม่ ในการดูแลป่าไม้โดยชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขยายไปสู่เมืองต่างๆ ภูเขาต่างๆในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะสามารถลดการเผาป่า และเป็นการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ได้อย่างยั่งยืน ในฐานของไบโอชีวภาพได้

ขณะที่ นายจิรศักดิ์ มีสัตย์ ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ บริษัท GULF CMWTE กล่าวว่า บริษัทฯ มีนโยบายและให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ต่อการร่วมอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมร่วมกับชุมชน โดยเฉพาะปัญหาไฟป่า หมอกควัน PM 2.5 การเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ ป่าไม้ ฯ ซึ่งมีผลกระทบอย่างรุนแรงในปัจจุบัน ทั้งชาวดอยสะเก็ด และ จ. เชียงใหม่ บริษัทฯเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ยินดีที่ร่วมสนับสนุนชุมชนเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน

ด้าน นายสมพงศ์ เจริญศิริ กำนันตำบลป่าป้อง กล่าวว่า พื้นที่ป่าชุมชนบ้านทุ่งยาวกินพื้นที่ 4 หมู่บ้านในตำบลป่าป้องมีพื้นที่ทั้งหมด 3 พันกว่าไร่ ซึ่งกระบวนการป่าคาร์บอนเครดิตของตำบลป่าป้องได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ก่อนหน้านี้ชาวบ้านได้ดำเนินกิจกรรมในป่าชุมชน เช่นการทำฝายชะลอน้ำ การทำแนวกันไฟชิงเก็บลดเผา ปลูกป่าเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามวิถีชีวิตของชาวบ้าน นั้นยังขาดองค์ความรู้ด้านวิชาการ ซึ่ง บริษัทฯ บ.กัลฟ์ และ เชียงใหม่เวสท์ ทู เอ็นเนอร์จี จำกัด ที่สนับสนุน งบประมาณ นักวิชาการ มาให้ความรู้แก่ชุมชน ในการบริหารจัดการพื้นที่ป่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่นการให้ความรู้กับชาวบ้านเรื่องจุลินทรีย์ การใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์เช่นการหมักหัวเชื้อจุลินทรีย์ และการนำขยะในครัวเรือนเพื่อนำไปทำปุ๋ยนำไปต่อยอดการสร้างรายได้ให้ชุมชน นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมจัดตั้งศูนย์เรียนรู้และธนาคารจุลินทรีย์ แก่ชุมชน ซึ่งจะเกิดประโยชน์ทั้งชุมชนและการฟื้นฟูป่าไม้ชุมชนได้เป็นอย่างมาก เบื้องต้นความรู้ในวันนี้ที่ชาวบ้านได้รับทางชุมชนจะได้มีการบริหารจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการคัดแยกเศษอาหารออกจากขยะแล้วนำมามาขยาย EM แล้วมาทำปุ๋ยใช้ในครัวเรือนก็จะสามารถลดขยะที่เป็นเศษอาหารได้

ขณะที่ พระประสิทธิ์ กิตติญาโณ เจ้าอาวาสวัดพระนอน ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม เปิดเผยว่า ทางวัดและชุมชนประสบปัญหาขยะจึงได้มีการรณรงค์ให้ชาวบ้านในพื้นที่คัดแยกขยะโดยเริ่มที่วัดพระนอน เป็นตัวอย่างให้ชาวบ้าน เช่นช่วงที่วัดมีงานและมีโรงทาน ก็จะให้สามเณร และอาสาสมัครชาวบ้านคัดแยกขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้จะนำไปขายให้บริษัทฯ ส่วนขยะที่เป็นพลาสติกก็จะไปเข้าเตาเผาเปลี่ยนเป็นน้ำมันใช้ในวัดทั้งเครื่องยนต์ เชื้อเพลิงเผาศพ แต่ขยะจากเศษอาหารทางวัดที่มีจำนวนมากใช้วิธีกำจัดเช่นนำไปหมักทำปุ๋ย แต่ก็เกิดกลิ่นเหม็นเนื่องจากยังไม่ได้จัดการขยะเปียกตามหลักวิชาการ ซึ่งความรู้ที่ได้รับในวันนี้คิดว่าจะนำไปต่อยอดในการบริหารจัดการขยะที่วัดเป็นอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะเปียกสามารถนำ EM นำไปหมักมาทำเป็นปุ๋ย ไปใส่ต้นไม้และแปลงผักภายในวัดได้อีกด้วย

นายรณกร บวรเลิศศักดา และ นายนิพนธ์ สุวรรณรังสี ชาวบ้าน ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม บอกว่า ในส่วนของครัวเรือนในพื้นที่ตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม ก็จะมีเศษอาหารและขยะเปียกเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว การอบรมวันนี้ได้เห็นประโยชน์การกำจัดขยะเปียกอย่างถูกวิธีด้วยองค์ความรู้ ด้วยการใช้จุลินทรีย์ และสามารถวิธีการดังกล่าวนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการขยะในชุมชนนอกจากนี้ยังสามารถนำไปต่อยอดสร้างรายได้จากขยะให้ชาวบ้านด้วยการขยายหัวเชื้อจุลินทรีย์ และการทำ EM ไปจำหน่ายสร้างรายได้ให้ชุมชนได้อีกด้วย ซึ่งหลังจากนี้จะได้มีการนำองค์ความรู้ที่ได้วันนี้ไปถ่ายทอดต่อให้กับชาวบ้านในชุมชนต่อไป