วันเสาร์, 23 พฤศจิกายน 2567

โรงพยาบาลสวนปรุง สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 ลงพื้นที่ดูแลเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบดินโคลนถล่ม และอุทกภัยน้ำท่วม

Social Share

โรงพยาบาลสวนปรุง สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 ลงพื้นที่ดูแลเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบดินโคลนถล่ม และอุทกภัยน้ำท่วม

​วันนี้ (12 ก.ย.67) ทีมดูแลเยียวยาจิตใจ MCATT กรมสุขภาพจิต ลงพื้นที่จากเหตุการณ์ดินโคลนถล่ม อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ และอุทกภัยน้ำท่วม อ.แม่สาย จ.เชียงราย ส่งทีมปฏิบัติการ MCATT โรงพยาบาลสวนปรุง สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 บูรณาการร่วมกับเขตสุขภาพที่ 1 ดูแลช่วยเหลือเยียวยาจิตใจประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้สูญหาย ผู้บาดเจ็บ และกลุ่มเปราะบาง​

นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากนโยบายรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขให้บุคลากรทางการแพทย์ พร้อมช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน กรมสุขภาพจิต จึงได้ส่งทีม MCATT ลงพื้นที่ปฏิบัติการร่วมกับทีม MCATT จังหวัดและอำเภอ บูรณาการกับทีมสาธารณสุขทุกฝ่าย เพื่อประเมินสถานการณ์ ประเมินสภาวะสุขภาพจิตสุขภาพจิตประชาชน ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระยะวิกฤตและฉุกเฉินด้านสุขภาพจิต โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบจากการสูญเสีย ได้แก่ ครอบครัวผู้เสียชีวิต ครอบครัวผู้สูญหาย ผู้บาดเจ็บ และกลุ่มเปราะบาง ให้ได้รับการดูแลด้านจิตใจทันที

นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ได้มีการจัดทีม MCATT จำนวน 2 ทีม โดยทีมแรกลงเยี่ยมผู้ได้รับบาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุดินโคลนถล่ม ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการดูแลจิตใจผู้ประสบภัยในระยะแรก เนื่องจากการที่อยู่ในสถานการณ์คับขัน กดดัน ตระหนก ตกใจ การหนีเอาชีวิตรอด การเห็นผู้เสียชีวิตที่ยากจะช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ อาจมีอาการช็อก มึนงง หวาดผวา จนเกิดความเศร้า ความรู้สึกผิด ความรู้สึกหวาดกลัวจนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาวตามมา ทีม MCATT จึงต้องประเมินสภาพจิตใจของผู้ได้รับบาดเจ็บ ครอบครัวผู้เสียชีวิตและเตรียมวางแผนการดูแลจิตใจต่อไป ในส่วนของทีมสองลงเยี่ยมผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์อุทกภัย โดยลงติดตามเยี่ยมในศูนย์พักพิงเทศบาลตำบลแม่สาย ศูนย์พักพิงศาลาผู้สูงอายุ และศูนย์พักพิงวัดพรหมวิหาร ซึ่งมีผู้ได้รับผลกระทบที่เป็นกลุ่มเปราะบางทั้งเด็ก และผู้สูงอายุ เน้นย้ำ ให้มีการประเมินสุขภาพใจ และใช้หลักการปฐมพยาบาลด้านจิตใจ (Psychological First Aid : PFA) ลดความเสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพจิตระยะยาว

นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิตและผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง กล่าวว่า สถานการณ์ภาพรวมจากผลปฏิบัติงานดูแลจิตใจผู้ได้รับผลกระทบทั้ง 2 พื้นที่ ในวันนี้ 12 ก.ย.67 พบมีประชาชนผู้ได้รับผลกระทบในศูนย์พักพิง จำนวน 270 คน โดยทีมได้มีการวางแนวทางการแบ่งกลุ่มผู้ประสบภาวะวิกฤต ที่มีความเสี่ยงต้องเฝ้าระวัง (Psychological Triage) เพื่อการติดตาม เป็น 3 กลุ่มดังนี้ กลุ่มเสี่ยงสูง (แดง) ได้แก่ ผู้บาดเจ็บ ญาติผู้เสียชีวิต ผู้ที่มีความคิดฆ่าตัวตาย กลุ่มเสี่ยงปานกลาง (เหลือง) ได้แก่ ผู้พิการ ผู้สูงอายุติดบ้านหรือติดเตียง ผู้มีประวัติใช้สารเสพติด ผู้มีประวัติการรักษาทางจิตเวช หรือ ผู้มีความเครียด กังวล ท้อแท้ สิ้นหวัง จนรบกวนการดำเนินชีวิต ในส่วนกลุ่มเสี่ยงต่ำหรือไม่เสี่ยง (เขียว) ได้แก่ กลุ่มที่นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งนี้ ทีมได้เตรียมวางแผนประเมินความเสี่ยงและแผนการเยียวยาจิตใจต่อไป

อย่างไรก็ตาม เน้นย้ำ ให้ทุกกลุ่มได้รับการดูแลปัจจัยสี่และการช่วยเหลือสนับสนุนด้านความเป็นอยู่ทั้งสุขภาพกายและใจเบื้องต้น ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรคที่จำเป็น ผู้ป่วยเดิมต้องได้รับยาอย่างต่อเนื่อง จัดให้อยู่ในสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีปลอดภัยมีความเสี่ยงน้อย หากพบความผิดปกติ ประสานหน่วยบรรเทาสาธารณภัยหรือกู้ชีพกู้ภัย โทร.1784 หรือ 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง