คิวยาวเหยียดเต็มไปรษณีย์ เห็ดถอบสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ให้กับชาวบ้านแม่ ราคาจากลิตร 350 บาท ลดลงเหลือลิตรละ 140 บาท ไปรษณีย์ไทย ส่งเห็ดถอบไปให้ลูกหลาน ญาติพี่น้อง และส่งจำหน่ายต่างจังหวัด ทำให้ไปรษณีย์ไทยแม่ฮ่องสอนคึกคักวันละไม่ต่ำกว่า 350 กล่อง
วันที่ 31 พ.ค.67 ตลอดทั้งวันและก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในช่วงเช้าถึงเที่ยงที่สำนักงานไปรษณีย์ไทยจังหวัดแม่ฮ่องสอน อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน จะมีประชาชนเดินทางมาต่อแถวเข้าคิวกันยาวเหยียด และเบียดเสียดเต็มห้องหน้าเค้าร์เตอร์ไปรษณีย์ แต่ละคนถือกล่องพลาสติกไปรษณีย์ บางคนหิ้วถุงพลาสติก เพื่อมาแพ็กใส่ในกล่องไปรษณีย์ แต่ละกล่องแต่ละถุงภายในบรรจุเห็ดถอบที่ยังไม่ได้ล้างน้ำกล่องละไม่ต่ำกว่า 2 ลิตร ถึง 5 ลิตร เพื่อส่งไปรษณีย์ EMS ด่วน ไปให้ญาติพี่น้อง ลูกหลานที่อยู่ต่างจังหวัดได้รับประทาน
ชาวบ้านที่มาส่งเห็ดถอบให้ญาติต่างจังหวัด กล่าวว่า เป็นชาวไร่ชาวนาธรรมดา ช่วงฤดูกาลเห็ดถอบก็จะเข้าป่าไปเก็บเห็ดถอบนอกจากหามารับประทานในครอบครัวและส่งไปให้ญาติต่างจังหวัดแล้ว ยังขายในพื้นที่ และส่งขายต่างจังหวัดอีกด้วย ในพื้นที่แม่ฮ่องสอน เมื่อช่วงกลางเดือน พ.ค.67 ราคาเห็ดถอบจะอยู่ที่ลิตรละ 350 บาท จะมีรายได้วันละ 2000-2500 บาท แต่ในช่วงนี้ราคาเห็ดถอบลดลงเหลือลิตรละ 100-140 บาท ซึ่งจะมีรายได้วันละ 600 บาท
นายสุรศักดิ์ ปัญญา หัวหน้าแผนกไปรษณีย์จังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า ในช่วงนี้เป็นฤดูกาลเห็บถอบ หรือเห็ดเผาะที่เกิดขึ้นตามป่าธรรมชาติในทุกอำเภอของจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะในช่วงเช้าถึงเที่ยงจะมีประชาชนมายืนเข้าแถวส่งเห็ดถอบไปให้ญาติจำนวนมากวันละไม่ต่ำกว่า 350 กล่อง โดยที่สำนักงานไปรษณีย์นอกจากจะบริการแพ็กเห็ดถอบใส่กล่องติดเทปกาวให้เรียบร้อยแล้ว ยังเพิ่มจำนวนพนักงานให้เพียงพอเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนอีกด้วย แต่ละวันที่ชาวบ้านส่งเห็ดถอบไปให้ญาติทางไปรษณีย์ จะอยู่ที่วันละ ประมาณ 800 – 1,000 กก. หรือ 1 ตัน มูลค่าสินค้าประมาณ ไม่ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อวัน โดยจังหวัดที่อยู่ในโซนเหนือด้วยกัน และกรุงเทพ จะใช้ระยะเวลาในการส่งสินค้าเพียง 1 วัน ส่วนจังหวัดทางภาคอีสาน ภาคใต้ และภาคกลางใช้เวลาส่ง 2 วัน
นางนัฎฐวี เสรีธนพงศ์ อายุ 42 ปี และบุตรสาว นางสาวณัฎฐธิดา เสรีธนพงศ์ อายุ 18 บ้านเลขที่ 23 หมู่ 12 ตำบลห้วยโป่ง อำเภอ เมือง จังหวัด แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า ในช่วงนี้ การเก็บหาเห็ดถอบมาขาย เป็นรายได้เพิ่มเติมของชาวบ้านที่มีการเก็บเห็ดถอบในป่า แต่ไม่ใช่ว่ามีทุกวัน ทุกอาทิตย์ หรือทุกเดือน มันมีแค่เป็นช่วง ๆ พวกเรามีรายได้น้อยต้องหาเลี้ยงชีพกับธรรมชาติ จะรอแต่รัฐบาลจะช่วยเหลือก็ไม่ทัน รายได้ไม่เพียงพอ การไปหาเห็ดถอบสามารถเก็บได้วันละ 1 ถัง เท่ากับ 20 ลิตร ลิตรละ 100 มีรายได้ 2,000 บาทต่อวัน แต่ก็มีชาวบ้านไปหากันทุกคน บางคนก็ได้น้อย บางคนก็ได้มาก แล้วแต่ว่าจุดที่ไปหาเห็ดจะมีเห็ดมากน้อยแค่ไหน
โดยมีแม่ค้าได้มารับซื้อเห็ดถอบจากชาวบ้าน และขายส่งเห็ดถอบออกไปยัง จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน ในราคาค่อนข้างสูงในช่วงที่เห็ดถอบออกใหม่ราคาสูงถึงลิตรละ 350 บาท แม้ราคาจะสูงขายเป็นลิตร(กระป๋อง) แต่ขายไม่ถึง 1 ชั่วโมง ปรากฏว่ามีลูกค้ามาซื้อไปจนเกลี้ยง บางคนซื้อทีละ 4-5 ลิตรเลยทีเดียว ปัจจุบันวันนี้ราคาขยับลดลง เหลือลิตรละ 80-100 บาท ราคาอยู่ที่ความอ่อนของเห็ด และการหาเห็ดได้ในแต่ละวัน ซึ่งราคาจะไม่นิ่ง ขยับขึ้นลงในทุกๆ วัน ทำให้เห็ดถอบ เป็นพืชเศรษฐกิจที่มาจากป่า อันดับ 1 ของแม่ฮ่องสอน มีเงินหมุนเวียนที่พ่อค้ามารับซื้อหลักแสนถึงหลักล้านบาท
ทั้งนี้การออกหาเห็ดถอบของชาวบ้าน ได้สร้างรายได้ในระยะเวลาสั้นๆ อย่างงดงาม บางคนหาเก็บได้ต่อวัน 10-20 ลิตร ทำให้มีรายได้งามๆ ในห้วงเทศกาลเห็ดถอบใน 1 ปี มีเพียงครั้งเดียว สำหรับเห็ดถอบช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงที่ดีที่สุด เห็ดเพิ่งออกใหม่ เนื้อในสีขาว รสชาติหวานกรอบ และยังไม่เหนียวเหมือนเห็ดที่เก็บช่วงปลายฤดู สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู ซึ่งเห็ดถอบเป็นเห็ดที่หายากที่สุด จะออกเพียง 1 ครั้งในรอบ 1 ปี เฉพาะหลังฝนตกห้วงเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนมิถุนายน เท่านั้น พอฝนตกแล้วก็เป็นสัญญาณเตือนให้ชาวบ้านแห่ไปขุดเขี่ยดินเก็บเห็ดถอบนำมาขายทันที
นายประเสริฐ ประดิษฐ์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน ระบุว่า เห็ดถอบคือเห็ดสวรรค์ของชาวรากหญ้า เพราะมันคือ อาหารและรายได้ที่เป็นกอบเป็นกำ ค่าเสื้อผ้า ค่าเทอมลูก ค่าหนี้ธกส. ค่ากองทุนหมู่บ้าน ค่าหวย จิปาถะ รอกลืนกินรายได้เหล่านี้อยู่แล้วอย่างใจจดใจจ่อ ตามประสบการณ์ ผมคาดเดาว่าปีนี้เห็ดถอบจะออกเยอะเพราะปัจจัยทางภูมิอากาศ แดดออกกลางวัน ฝนตกตอนเย็นที่สำคัญหลายพื้นที่มีลูกเห็บตก นั่นคือปัจจัยสำคัญยิ่งที่ทำให้ผลผลิตเห็ดถอบออกเยอะ (คนโบราณ) เขาบอกไว้ ไม่รวมความเชื่อเรื่องขี้เถ้า (ฟอสฟอรัส) ที่ผลงานวิจัยทางวิชาการบอกว่า ไม่มีผลต่อการเกิดของเห็ด แต่ การวิจัยชาวบ้านบอกว่าใช่และมีผลโดยตรง หลักฐานที่ยืนยันชัดเจนของชาวบ้านคือ พื้นที่ไหนที่ไม่เกิดการเผาป่า จะไม่มีเห็ดออกแต่อย่างใด แต่เมื่อเผาป่ากลับมีเห็ดออกเยอะมากทำให้ชาวบ้านไม่เชื่อคำของนักวิชาการแต่อย่างใด
ชาวแม่ฮ่องสอนส่วนใหญ่ต้องพึ่งพิงป่าอาศัยอยู่กับป่า ทัศนคติที่ไม่ค่อยลงรอยกันกับนักวิชาการและผู้กำกับดูแลป่าตามกฎหมาย ปัจจุบันเกิดกระบวนการทำความเข้าใจ ปรับทัศคติหันหน้าเข้าหากัน ร่วมมือกันแก้ปัญหา แต่ก็ยังมีอีกส่วนหนึ่ง ที่เชื่อมใจกันยังไม่ค่อยติดซึ่งคงต้องใช้เวลา ที่สำคัญ”แม่ฮ่องสอนจังหวัดพิเศษทางธรรมชาติและวัฒนธรรม”
Cr. ฉลอง หมั่นสกุล
เรื่องมาใหม่
- กระหึ่มริมน้ำปาย นักท่องเที่ยวจัดปาร์ตี้ อวยพรวันคริสต์มาส สุดเหวี่ยง
- ปรามเมาแล้วขับ!! ตร.แม่สะเรียง กำชับมาตราการคุมเข้ม บังคับใช้กฎหมาย เน้นหนัก 10 ข้อหาลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568
- แม่สะเรียง ปล่อยแถวกวาดล้างปราบปรามอาชญากรรมในห้วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ 2568
- เชียงราย สุดสลด! หนุ่มเครียดเมียขอแยกทางไปมีครอบครัวใหม่ จับลูก 3 คนแขวนคอพร้อมตัวเอง
- เชียงราย บุกจับเครือข่ายเว็บพนันรวบ 8 แอดมิน พบมีเงินหมุนเวียนหลายร้อยล้านบาท