วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2567

สอง รพ.ในแม่ฮ่องสอน สุดยอดสร้างทีมเวิร์ก ช่วยเด็กถูกไซยาไนด์โคม่า นัดพบครึ่งทาง ให้ยาต้านพิษ ช่วยชีวิต

Social Share

สอง รพ.ในแม่ฮ่องสอน สุดยอดสร้างทีมเวิร์ก ช่วยเด็กถูกไซยาไนด์โคม่า นัดพบครึ่งทาง ให้ยาต้านพิษ ช่วยชีวิต

จากกรณีเฟซบุ๊กเพจ “Ramathibodi Poison Center” โพสต์เล่าความสุดยอดของแพทย์ไทย ที่สามารถยื้อชีวิตเด็กจากเผลอกินน้ำยาล้างเครื่องเงิน จนรอดมาได้อย่างปาฎิหาริย์ โดยระบุว่าโพสต์นี้แอดขอเป็นตัวแทนเจ้าหน้าที่ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ชื่นชมและขอบคุณ ทีม รพ.ขุนยวม และ รพ.ศรีสังวาลย์ จ.แม่ฮ่องสอน ที่ช่วยเหลือประสานงานการส่งตัวผู้ป่วยเด็กที่หมดสติและมีเลือดเป็นกรดรุนแรงจากพิษไซยาไนด์จากน้ำยาล้างเครื่องเงิน

ไซยาไนด์ ยับยั้งการหายใจระดับเซลล์ทำให้อวัยวะต่างๆ ล้มเหลวและอาจเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับยาต้านพิษทันเวลา การได้รับยาต้านพิษทันเวลาสำคัญต่อการกู้ชีวิตเด็กคนนี้มากๆ เรียกว่าทุกวินาทีมีค่า ด้วยว่าเป็นภาวะที่เกิดไม่บ่อย (ตลอดชีวิตการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์บางท่านอาจยังไม่เคยเจอเลยด้วยซ้ำ) ยาต้านพิษนี้จึงจะไม่ได้มีในทุก รพ. แต่มีระบบการเก็บไว้ในโรงพยาบาลจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศให้มีการส่งหรือยืมเพื่อช่วยผู้ป่วยตามระบบของโครงการยาต้านพิษ

การที่ทีมทั้งสอง รพ. ตัดสินใจให้ทาง รพ.ขุนยวม มีแพทย์ และพยาบาลอีกสองท่านออกรถไปกับเด็ก ขณะเดียวกันทาง รพ.ศรีสังวาลย์ก็ออกรถนำยาต้านพิษ (sodium nitrite และ sodium thiosulfate) มาพบกันครึ่งทางและให้ยาต้านพิษบนรถพยาบาลกลางทางแล้วรับตัวน้องเด็กไปดูแลต่อที่ไอซียู ทำให้ประหยัดเวลาและรักษาชีวิตคนไข้ได้อย่างทันท่วงที แม้เส้นทางจะคดเคี้ยวหรือทำเวลาได้ยาก แต่ด้วยการประสานพบกันกลางทางนี้ก็ทันเวลาที่จะช่วยคนไข้ให้ฟื้นตัวและตื่นรู้ตัวเป็นปกติได้ในเวลาต่อมา

“ขอบคุณที่ให้ทีมศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือคนไข้ในครั้งนี้ ขอบคุณที่ให้พวกเราได้เห็นตัวอย่างการประสานงานอย่างยอดเยี่ยมระหว่างหน่วยงาน ขอชื่นชมทีมทั้งสองโรงพยาบาล พวกคุณสุดยอดมากครับ #ขอคารวะทั้งสองทีมจากใจจริง ปล. ไซยาไนด์พ่ายยาต้านพิษ คิดประสานนำส่งตรงเวลา จักรักษาชีวิตได้ทันควัน หากโคนันมาไทยคงตกงาน”

เด็กน้อยอายุ 5 ปี มาด้วยอาการไม่รู้สึกตัว แน่นิ่งไม่ตอบสนองใดๆ แม่ให้ประวัติดื่มน้ำยาแช่เครื่องเงินประมาณ 1 อึ๊ก ซึ่งน้ำยาเป็นสารไซยาไนด์ รพ.ที่ไปรักษาเป็น รพ.ชุมชน ซึ่งไม่เคยเจอเคสแบบนี้มาก่อน อย่าว่าแต่รพ.ชุมชนเลย เราที่อยู่รพ.จังหวัด ทำงานมานานก็ยังไม่เคยเจอเคสแบบนี้เลย หมอจึงรีบโทรไปหาศูนย์พิษรามาทันที เพื่อปรึกษาเรื่องการรักษาพิษจากไซยาไนด์

อาจารย์แพทย์ที่ศูนย์พิษรามา ได้มีคำสั่งการรักษาผู้ป่วย ด้วยยาหลายตัว ยาบางตัวมีให้ได้เลย แต่ยาที่เป็นพระเอกใช้แก้พิษไซยาไนด์ ไม่มีในรพ.ขนาดเล็กๆแบบนี้ ต้องพาเด็กไปรักษาที่รพ.จังหวัด ห่างออกไป 60 กม. ทางคดเคี้ยวเลี้ยวลดขับเร็วไม่ได้ ทำเวลาไม่ได้ เอาล่ะสิ. ยุ่งแล้ว

หมอปุ้ยโทรปรึกษาแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน และกุมารแพทย์เพื่อจะมารักษาต่อที่นี่ และกระโดดขึ้นรถรีเฟอร์มพร้อมพยาบาลอีก 2 คน เพื่อดูแลเด็กระหว่างทาง หมอกรีคำนวณเวลาแล้ว กว่าเด็กจะมาถึง ไซยาไนด์คงทำพิษต่อร่างกายเสียหายไปมาก และเด็กอาจจะเสียชีวิตระหว่างทาง หมอกรีจึงมีคำสั่งให้เอายาแก้พิษไซยาไนด์ 2 ตัว ให้พนักงานขับรถ นำยาไปส่งให้ทีมหมอปุ้ยที่กำลังเดินทางมา เพื่อที่จะได้รีบให้ยาแก้พิษทันที

หมอปุ้ยและทีมรีเฟอร์ รพ.ขุนยวม เมื่อได้รับยาจาก พชร. แล้วก็ให้ยาแก้พิษ จากนั้นเด็กเริ่มตื่น ดิ้น จากที่นอนแน่นิ่งไม่ตอบสนองใดๆ หมอฉุกเฉิน Kreetha Kamniam หมอแพรซึ่งเป็นหมอเด็ก มารอเตรียมรับผู้ป่วยที่ ER พอมาถึงที่นี่ ให้ยาแก้พิษซ้ำไปอีก เจาะเลือด ติดตามพิษในเลือด ติดตามสัญญาณชีพ ส่งเด็กนอนรักษาต่อที่ ICU. ลุ้นให้เด็กน้อยรอด เช้านี้ติดตามอาการ เด็กน้อย ตื่นดี ถอดท่อช่วยหายใจแล้ว E4V5M6

การรักษาเด็กน้อยครั้งนี้ เปรียบเสมือนการวิ่งแข่งกับสารพิษไซยาไนด์ ที่เข้าไปทำลายเซลล์ในร่างกาย โดยเราปล่อยยาแก้พิษ (sodium nitrite และ sodium Thiosulfate) เข้าสู่กระแสเลือดให้วิ่งเข้าไปจับไซยาไนด์ล๊อคไซยาไนด์ไว้ให้สิ้นพิษ เฮ้อ..แค่คิดก็เหนื่อยแล้ว

” สรุป.. พวกเราชนะว๊อยย….. เย้!! คำเตือน ใครมีลูกเล็ก ควรจัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย ไซยาไนด์มีพิษร้ายแรงมาก สามารถฆ่าคนในเวลาไม่กี่นาที คำเตือนอีกข้อ หากผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น กดหัวใจได้ แต่อย่าจุ๊ฟปากผายปอด เพราะอาจจะได้รับไซยาไนต์ด้วย ตายอ๊องไปด้วยกัลลเรย คำเตือนสุดท้าย ยังไม่เชยนะ อย่าประมาทไปทานข้าวกับคนแปลกหน้า นะคะ “

วันที่ 9 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวจึงได้เดินทางไปยังโรงพยาบาลศรีสังวาลย์จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดย นายแพทย์สมศักดิ์ อุทัยพิบูลย์ ผอ.โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ , นายแพทย์วรัญญู จำนงประสาทพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด , แพทย์หญิงณัฐณิชา อนันตํนวณิช กุมารแพทย์ และ นายแพทย์กรีฑา คำเนียม แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินโรงพยาบาลศรีสังวาลย์แม่ฮ่องสอน ได้นำผู้สื่อข่าวเข้าไปยังห้องผู้ป่วยเด็ก พบว่าเด็กมีอาการดีขึ้น พ่อแม่ที่เฝ้าดูแลลูกเมื่อเห็นคุณหมอรีบขอบคุณเป็นการใหญ่ที่ช่วยชีวิตลูกน้อยไว้ได้

แพทย์หญิง ณัฐณิชา อนันต์ธนวณิช กุมาระแพทย์ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า การรักษาเด็กที่ดื่มไซยาไนด์ในเคสนี้ หลังจากมีการประสานงานระหว่างทีมแพทย์โรงพยาบาลศรีสังวาลย์และโรงพยาบาลขุนยวมและขอคำปรึกษาไปยังอาจารย์แพทย์ที่ศูนย์พิษรามาก็ได้เตรียมพร้อมทั้งแพทย์พยาบาลยาต้านพิษทั้ง 2 โรงพยาบาลนัดเจอกันระหว่างทาง เมื่อพบผู้ป่วยเราก็รีบให้ยาต้านพิษ หลังจากเด็กได้รับการฉีดยาต้านพิษแล้วอาการเด็กก็ค่อยๆ ดีขึ้น แต่มีภาวะสับสนจึงได้รีบรับตัวเด็กเข้าไปรักษาตัวต่อที่ห้องไอซียูโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ เด็กอาการดีขึ้นตามลำดับและถอดท่อช่วยหลายใจ ปัจจุบันเด็กมีอาการตื่นรู้ตัวดีปกติ สามารถทานอาหารได้ตามปกติ โต้ตอบได้ แต่ยังมีปัญหาเรื่องเสียงแหบเป็นเพราะเกิดจากการใส่ท่อช่วยหายใจแต่ก็ไม่เป็นปัญหา จริง ๆ การออกฤทธิ์ของสารไซยาไนด์ส่วนที่ผสมในน้ำยาล้างเครื่องเงินจะออกฤทธิ์ค่อนข้างเร็ว ความรุนแรงจะขึ้นกับปริมาณที่รับเข้าไปกับระยะเวลาที่ได้รับยาต้านพิษ ขอฝากไปยังผู้ปกครอง พ่อแม่ กรณีที่มีสารอันตรายไม่ควรเก็บยาเหล่านี้ใกล้มือเด็ก ควรจะเก็บในตู้ให้มิดชิดให้พ้นมือพ้นสายตาเด็ก

นายแพทย์สมศักดิ์ อุทัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีสังวาลแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า หลังรับแจ้งตนก็ได้สั่งการจัดทีมแพทย์พยาบาลเดินทางเข้าไปให้การช่วยเหลือทันทีพร้อมเก็บสารอันตรายหรือขวดไซยาไนด์มาให้แพทย์เพื่อจะได้ช่วยเหลือเร่งด่วน คือโรงพยาบาลศรีสังวาลแม่ฮ่องสอน เป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด ขนาด 150 เตียง มีแพทย์ประจำ 29 คน และแพทย์ช่วยทุนอีก 10 คน สามารถดูแลเกือบได้ครบทุกแผนก เวลาเกิดเหตุในแม่ฮ่องสอน เราก็จะใช้วิธีแบ่งโซนในการดูแล โดยโซนที่อยู่ทางเหนือดูแลพื้นที่ปายปางมะผ้า ส่วนโซนที่อยู่ทางได้ดูแลพื้นที่แม่สะเรียง หากมีปัญหาหนักก็ให้ส่งมายังโรงพยาบาลศรีสังวาล สำหรับเคสนี้เราต้องรู้ก่อนว่าได้รับยาหรือสารอันตรายอะไรคนที่เจอก็ต้องหาหลักฐานมาให้เราดูเพื่อที่จะให้แพทย์ช่วยเหลือดูแลได้ทัน

นายแพทย์วรัญญู จำนงประสาทพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอนค่อนข้างจะห่างไกล ไม่ว่าจะจากตัวเมืองไปยังอำเภอ หมู่บ้าน ชุมชน หรือจากหน่วย รพ.สต.มายังโรงพยาบาลอำเภอก็มีระบบของการดูแลผู้ป่วยในกรณีเคสนี้เราก็ให้การดูแลที่เหมาะสม ในภาวะที่จะต้องใช้ยาต้านพิษ หรือยาที่มีเฉพาะในบางพื้นที่ไม่สามารถที่จะเก็บไว้ได้ในแต่ละโรงพยาบาล หากพบปัญหาเหมือนเคสนี้ก็ต้องรีบส่งต่อไปยังโรงพยาบาลจังหวัดหรือพบกันครึ่งทางเพื่อดูแลรักษาให้ทันท่วงที

Cr. ฉลอง หมั่นสกุล