ด่วน!! ประปาพะเยา ประกาศ “ลดแรงดันน้ำ” หลังกว๊านพะเยาวิกฤติเหลือ 3 ล้าน ลบ.ม.
วันที่ 3 พ.ค.66 ที่ห้องประชุมจอมทอง ชั้น 4 ศาลากลาง จ.พะเยา นายหัสนัย แก้วกุล รองประธานคณะกรรมการธรรมาภิบาล ประจำ จ.พะเยา เป็นประธานในการประชุมและลงพื้นที่ติดตามแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนวิกฤตน้ำกว๊านพะเยา โดยมี ผอ.ศูนย์วิจัยประมงน้ำจืด จ.พะเยา ประมง จ.พะเยา ตัวแทนเกษตร จ.พะเยา นายนิมิต ปิ่นธานี ผจก.การประปาส่วนภูมิภาคสาขาพะเยา ตัวแทนโครงการชลประทานพะเยา ตัวแทน อบจ.พะเยา คณะ กธจ.พะเยา และส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยได้รับเกียรติจาก น.ส.ธัญญาภรณ์ จันทร์สว่าง ผอ.ปปช.พะเยาและคณะเข้ารับฟังการแก้ไขปัญหาด้วย
นายหัสนัย แก้วกุล กล่าวว่า ในการประชุมวันนี้จะไม่นำเรื่องความถูกผิดที่ผ่านมากล่าวถึง โดยเน้นการสร้างสรรค์แนวทางแก้ไขปัญหานำมาสู่ความร่วมมือในการพัฒนากว๊านพะเยา ซึ่งหลังกว๊านพะเยาวิกฤตมีประชาชนส่งข้อมูลปัญหามาให้ กธจ.พะเยา หลายเรื่อง ทั้งที่ต้นเดือน ม.ค.66 ยังมีน้ำเหลือประมาณ 40 ล้าน ลบ.ม. ทุกคนต่างเข้าใจว่าปีนี้น้ำท่าดีไม่น่าเป็นห่วงเรื่องภัยแล้ง แต่พอเข้าเดือน มี.ค.น้ำในกว๊านเหลือ13 ล้าน ลบ.ม จากนั้นเริ่มลดลงอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันเหลือประมาณ 3 ล้าน ลบ.ม.จากการลงพื้นที่พบว่าที่ประตูประมงยังมีน้ำรั่วอยู่ทั้งสองบานซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำกว๊านพะเยาแห้ง ทางศูนย์วิจัยพัฒนาประมงน้ำจืดพะเยา ต้องหาทางแก้ไข
ด้านตัวแทนโครงการชลประทานพะเยา ชี้แจงว่า น้ำที่แห้งถูกปล่อยไปหล่อเลี้ยงพื้นที่ปลูกข้าวของเกษตรกรลุ่มน้ำอิงท้ายน้ำกว๊านซึ่งมีข้อตกลงกันไว้จำนวน 15 ล้าน ลบ.ม.ที่ปล่อยน้ำมากเพราะเกษตรกรปลูกข้าวในลุ่มน้ำอิงเกือบ 3 หมื่นไร่ ในการหาน้ำมาเติมกว๊านพะเยา มีการประชุมขอน้ำจากอ่างแม่ต๋ำ จำนวน 2 ล้าน ลบ.ม.อ่างเก็บน้ำแม่ปืมให้มาอีก 3 ล้าน ลบ.ม.และหนองเล็งทรายให้ 500,000 ลบ.ม.ซึ่งนายหัสนัยกล่าวว่า ระยะทางที่น้ำไหลลงกว๊านพะเยาไกลเกือบ 20 กม. มีพื้นที่ปลูกข้าวรอดักอยู่ตลอดทางคาดว่าน้ำที่ปล่อยมาจากอ่างเก็บน้ำทั้งสองแห่งจะมาถึงกว๊านพะเยา ประมาณ 2-3 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น
ในที่ประชุมได้มีการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหารปล่อยน้ำและห่วงในระบบนิเวศ หวั่นปลาจำนวนมากในกว๊านพะเยาอาจสูญพันธุ์ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีความเห็นให้แต่งตั้งคณะกรรมการบริการจัดการกว๊านพะเยา ซึ่งเดิมมีเพียงโครงการชลประทานพะเยาถือกุญแจห้องควบคุมประตูระบายน้ำ หากเป็นคณะกรรมการฯ มีทั้งส่วนราชการและภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาเปิดประตูปล่อยน้ำฝ่ายข้าราชการจะตัดสินใจง่ายขึ้นเพราะมีภาคประชาสังคมเป็นกำลังขับเคลื่อน
นายหัสนัย ยังขอให้หน่วยงานที่นำเครื่องจักรลงไปขุดลอกร่องน้ำบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบว่า เรื่องนี้ต้องดูในภาพรวมของผลที่จะตามมา เครื่องจักรลงไปขุดล่องน้ำ หน้าดินเมื่อถูกขุดจะเกิดตาน้ำรั่วลงพื้นดิน ส่งผลให้น้ำหายไปพร้อมกับการระเหยจากความร้อน จึงขอให้นำเครื่องจักรกลับขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค.66
โดย นายนิมิต ปิ่นธานี ผจก.การประปาส่วนภูมิภาคสาขาพะเยา ชี้แจงว่า การประปาฯ จะขุดลอกให้น้ำตรงกลางร่องน้ำอิงในกว๊านพะเยาไหลเข้าพื้นที่หัวสูบน้ำของการประปาฯ ปัจจุบันระดับน้ำสูงกว่าหัวจ่าย 28 ซม. หากไม่ให้ขุดลอกอีกไม่กี่วันจะไม่มีน้ำผลิตน้ำประปา ซึ่งได้รับข้อยกเว้นให้เครื่องจักรสามารถทำงานได้จนแล้วเสร็จ
นายนิมิต กล่าวต่อว่า น้ำกว๊านพะเยาลดลงอย่างต่อเนื่อง การประปาส่วนภูมิภาคสาขาพะเยา จำเป็นต้องประคองปริมาณน้ำให้ได้จ่ายได้มากที่สุดและใช้เวลานานที่สุด จำเป็นต้องลดแรงดันน้ำในช่วงเวลา 22.00 น. – 06.00 น.เพื่อให้มีปริมาณน้ำจ่ายให้ผู้ใช้น้ำอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค.66 เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำที่อยู่บริเวณพื้นที่สูง ตลอดจนอาคารสูง น้ำอาจไหลเบาลง จึงขอให้ผู้ใช้น้ำเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ดังกล่าว
เรื่องมาใหม่
- (คลิป) เชียงราย ตำรวจท่องเที่ยวทลายเครือข่ายลักลอบขนต่างด้าวชาวจีนเข้าประเทศ เร่งขยายผล
- (คลิป) เชียงราย จับ “สามารถ” ดิไอคอนกรุ๊ป ปิดปากเงียบไม่ให้สัมภาษน์ DSI คุมตัวขึ้นเครื่อง สอบต่อกรุงเทพฯ
- (คลิป) เชียงราย ตม.เชียงแสน รวบ พระมาเลฯ ลักทรัพย์ หนีข้ามจังหวัด
- กองกำลังผาเมือง ปะทะคาราวานยาที่เชียงดาว ยึดยาได้ 2.6 ล้านเม็ด
- AIS ผนึก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจไซเบอร์เปิด “มาตรการระเบิดสะพานโจร” บุกรวบจีนเทา พร้อมเครื่องส่ง SMS ปลอม