สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เยี่ยมชมระบบไฟฟ้าชุมชนอัจฉริยะขนาดเล็ก (สมาร์ทไมโครกริด) แก้ปัญหาไฟฟ้าขัดข้อง
วันที่ 23 ธันวาคม 2565 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน นำโดยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ พร้อมคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการระบบสมาร์ทไมโครกริดบ้านขุนกลาง บริเวณพื้นที่โรงไฟฟ้าบ้านขุนกลาง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ มีนายวรพจน์ วรพงษ์ ผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล และ นายปรัชญา ศรีโจ หัวหน้าแผนกโรงไฟฟ้าเขื่อนไม้งัดสมบูรณ์ชล และ รศ.ดร.สุทธิชัย เปรมฤดีปรีชาชาญ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช.และนายจตุพร ปารมี หัวหน้าสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ และคณะเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้
นายวรพจน์ ได้กล่าวต้อนรับ และกล่าวสรุปเรื่องโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อน และโรงไฟฟ้าบ้านขุนกลาง ระบบไฟฟ้าชุมชนแบบอัจฉริยะขนาดเล็ก (สมาร์ทไมโครกริด) ที่ผสมผสานระหว่างไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงและไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เข้าเก็บในแบตเตอรี่หรือระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) เพื่อรองรับกรณีระบบไฟฟ้าหลักขัดข้องในพื้นที่ห่างไกล ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและเป็นถิ่นทุรกันดาร การคมนาคมไม่สะดวกและยากต่อการวางระบบสาธารณูปโภค ดังนั้นเพื่อเป็นการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับชุมชนให้มีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ สนพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมกันดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย มุ่งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และการจัดการทรัพยากรในระบบจำหน่ายไฟฟ้า และในพื้นที่โครงการหลวงดอยอินทนนท์ ในปัจจุบัน มีการติดตั้งสายส่งไฟฟ้าจากพื้นราบแล้ว แต่ด้วยสภาพพื้นที่เป็นป่าเขาหากเกิดฝนตกหนักหรืออุทกภัยจะส่งผลกระทบต่อระบบสายส่งและเกิดไฟฟ้าดับเป็นเวลานานส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานต่างๆ ในโครงการหลวง รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน กฟผ. จึงได้ติดตั้งระบบสมาร์ทไมโครกริดบ้านขุนกลาง พร้อมแบตเตอรี่ประเภท Li-Ion ขนาด 100 kW/150Kwh. สามารถช่วยแก้ปัญหาไฟฟ้าตกหรือดับในพื้นที่ได้อย่างน้อย 95% เป็นเวลานานกว่า 8 ชั่วโมงในแต่ละครั้ง
โดยระบบสมาร์ทไมโครกริดนี้ มีระบบกักเก็บพลังงานหรือแบตเตอรี่ซึ่งเปรียบเสมือน Power Bank ที่ช่วยกักเก็บพลังงานที่ได้นำพลังงานไฟฟ้าจากพลังน้ำและแสงอาทิตย์มาสำรองไว้ใช้ในยามจำเป็น ลดความผันผวนของระบบไฟฟ้าภายในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ สนพ. อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (PDP 2022) ซึ่งระบบกักเก็บพลังงานถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้ได้ตามแผน ดังนั้นระบบกักเก็บพลังงานหรือแบตเตอรี่จะช่วยแก้ไขปัญหาความไม่เสถียรของพลังงานทดแทนอย่างลงตัวและช่วยส่งเสริมระบบไมโครกริด ซึ่งเป็นระบบไฟฟ้าขนาดเล็กที่รวมเอาระบบผลิตไฟฟ้าโหลดไฟฟ้า ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงระบบกักเก็บพลังงานและระบบควบคุมอัตโนมัติเข้าไว้ด้วยกัน โดยสามารถลดภาระในการบริหารจัดการไฟฟ้าและต้นทุนของระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลัก ทำให้ระบบมีความมั่นคงขึ้น
นายวัฒนพงษ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ปัจจุบันระบบกักเก็บพลังงานหรือแบตเตอรี่มีความสำคัญต่อเทคโนโลยีพลังงานเป็นอย่างมาก โดยจะช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน โดยเฉพาะการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและระบบสมาร์ทกริด นอกจากนี้แบตเตอรี่ยังเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งภาครัฐได้เตรียมการออกมาตรการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและการใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศ ซึ่งจะเป็นการช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการใช้พลังงานสะอาดตามกรอบแผนพลังงานชาติได้เป็นอย่างดี”
เรื่องมาใหม่
- AIS ผนึก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจไซเบอร์เปิด “มาตรการระเบิดสะพานโจร” บุกรวบจีนเทา พร้อมเครื่องส่ง SMS ปลอม
- เชียงราย จัดกิจกรรมเสริมสร้างความเข้มแข็งระบบกลไกเครือข่ายทีมสหวิชาชีพด้านเด็กและเยาวชน
- (คลิป) ตำรวจแม่จัน เชียงราย จับสึกพระเมาเหล้าขอปัจจัย
- เจ้าคณะจังหวัดแม่ฮ่องสอน อนุโมทนา “ปิดเทศกาลนมัสการพระธาตุดอยกองมู ( ลอยกระทงสวรรค์) ประจำปี 2567”
- “น้องโบว์ลิ่ง” คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดหนูน้อยนพมาศเมืองยวมใต้ ประจำปี 2567