วันพฤหัสบดี, 21 พฤศจิกายน 2567

แม่ฮ่องสอน เปิดโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ บูรณาการทุกหน่วยงานร่วมพัฒนาฟื้นฟูเกษตรกร แนะนำ ให้ความรู้ พร้อมแก้ไขปัญหา

Social Share

วันที่ 3 สิงหาคม 2565 ที่โรงเรียนสังวาลย์วิทยา ตำบลแม่เหาะ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ บูรณาการทุกหน่วยงานในสังกัดร่วมพัฒนาฟื้นฟูเกษตรกร แนะนำ ให้ความรู้ พร้อมแก้ไขปัญหา

นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้เดินทางเป็นประธานเปิดงานโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ฯ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสที่ทรงวันเฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา โดยมี นายขจรศักดิ์ชนัน จิตภิลัย เกษตรจังหวัดแม่ฮ่องสอน นำส่วนราชการนหน่วยงานในสังกัดร่วมกิจกรรมให้คำแนะนำ ให้ความรู้ และ รับฟังปัญหาเกษตรกรในพื้นที่ พร้อม มอบรางวัลการประกวดผลผลิตทางการเกษตร พริกกะเหรี่ยงแห้ง ฟักทอง อะโวคาโด และ รางวัล ประกวดศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลดีเด่น (ศบกต.) ระดับจังหวัด ปี 2565

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ศบกต.แม่ลาหลวง อำเภอแม่ลาน้อย ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมโล่รางวัล รางวัลที่ 2 ได้แก่ ศบกต.ปางหมู อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมโล่รางวัล และ รางวัลที่ 3 ได้แก่ ศบกต.เมืองปอน อำเภอขุนยวม ได้รับเงินรางวัล 3,000 บาท พร้อมโล่รางวัล ซึ่งได้รับการสนับสนุนเงินรางวัล โดย องค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อม มอบพันธุ์ปลากินพืช ให้แก่เกษตรกร หลังจากนั้นคณะผู้ว่าฯ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการ บูธพืชผักปลอดสารพิษ บูธกาแฟหอมเหาะ และ บูธแจกจ่ายผลิตภัฑ์สิ่งของพืชพันธุ์ทางด้านการเกษตรต่างๆ ให้แก่เกษตรกรที่เดินทางมาร่วมงาน

“โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่” ในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงมีพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงรับโครงการไว้ในพระราชานุเคราะห์และทรงพระราชทานพระราชานุญาตอัญเชิญอักษรพระนามาภิไธยย่อไว้ในเครื่องหมายตราสัญลักษณ์โครงการ โดยเปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อ 22 ก.ค. 2545 ณ ตำบลบ้านหลวง อำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรี การจัดตั้งคลินิกเกษตรเคลื่อนที่เป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถทำให้การบริหารการจัดการและการถ่ายทอดเทคโนโลยี การเกษตรแก่เกษตรกรระดับรากหญ้าบรรลุผลสำเร็จ เนื่องจากเป็นช่องทางที่สามารถให้บริการตรงตามความต้องการ และ ทันต่อเหตุการณ์ การดำเนินงานคลินิกเกษตรเป็นการบูรณาการวิชาการแต่ละสาขา ทั้งด้านพืช ปปศุสัตว์ ประมง พัฒนา ที่ดิน ฯลฯ โดยใช้การเคลื่อนที่เข้าไปหาเกษตรกร สร้างแรงดึงดูดใจและกระตุ้นให้เกษตรกรตื่นตัว ยอมรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาของเกษตรกร