วันจันทร์, 25 พฤศจิกายน 2567

1 ส.ค. 65 ลำปางพร้อมเปิดใช้ Mobile Application “MooVe” แพลตฟอร์มดิจิทัลบริการ ขนส่งสาธารณะลำปาง

26 ก.ค. 2022
1302
Social Share

ลำปางผนึกกำลัง พัฒนา Mobile Application MooVe” แพลตฟอร์มดิจิทัลบริการ ขนส่งสาธารณะ กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่เขตเมืองลำปาง พร้อมเปิดใช้งาน 1 สิงหาคมนี้

วันที่ 26 กรกฎาคม 2565 จังหวัดลำปางผนึกกำลังสำนักงานขนส่งจังหวัดลำปาง เทศบาลนครลำปาง หอการค้าจังหวัดลำปาง และกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (YEC) จัดแถลงข่าวกิจกรรมการพัฒนา Mobile Application “MooVe” แพลตฟอร์มดิจิทัลบริการขนส่งสาธารณะ ณ สำนักงานประชาสัมพันธ์ ศาลากลางจังหวัดลำปาง ภายใต้โครงการการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลการให้บริการขนส่งสาธารณะกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่เขตเมืองลำปาง

หอการค้าจังหวัดลำปาง และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยการสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ร่วมดำเนินการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนอัจฉริยะ พร้อมนำเทคสตาร์ทอัพร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล เตรียมเปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวจังหวัดลำปางทดลองใช้งานวันที่ 2 สิงหาคม – 18 กันยายนนี้

นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า ปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของเมืองใหญ่และต้องได้รับการแก้ไข คือ ปัญหาการจราจรติดขัด เนื่องจากการใช้รถส่วนตัวที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะที่ผิวจราจรของถนนนั้นไม่สามารถขยายเพิ่มได้ การตอบโจทย์ปัญหาของการจราจรติดขัด ปัญหารถติด จึงเป็นเรื่องของการบริหารจัดการระบบขนส่งที่ต้องสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ใช้งาน ดังนั้น จังหวัดลำปางจึงมีแนวทางในการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอัฉริยะ (Smart City) ตามนโยบายและการส่งเสริมของกระทรวงการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีการจัดทำแผนแม่บทหรือ Smart City Masterplan ทั้ง 7 ด้าน เพื่อใช้เป็นแผนในการพัฒนาเมืองระยะยาว

โดย 1 ในนั้นสอดคล้องกับแนวทางของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของลำปาง ได้แก่ Smart Mobility ซึ่งขนส่งจังหวัดฯ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการขับเคลื่อน และโครงการ MooVe Lampang ถือเป็นหนึ่งในโครงการที่จะช่วยขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว จึงร่วมมือกับหลายหน่วยงานภาคส่วนในพื้นที่ ทั้งหอการค้าจังหวัดลำปาง ขนส่งจังหวัดลำปาง เทศบาลนครลำปาง และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัย เชียงใหม่ (STeP) ร่วมดำเนินการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อการใช้งานในระบบขนส่งสาธารณะและระบบบริหารจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การบริหารจัดการระบบขนส่งสาธารณะในจังหวัดลำปางมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเชื่อมต่อระบบให้บริการรถโดยสารแบบเรียลไทม์ เพิ่มความสามารถในการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะในเขตเทศบาลนครลำปาง รวมถึงการเรียกใช้ข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์ระบบบริหารจัดการเพื่อปรับปรุงระบบ โดยรองรับจุดจอดสถานที่สำคัญของจังหวัดลำปางในระยะแรก 14 แห่ง ได้แก่ สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดลำปาง, สถานีรถไฟนครลำปาง, มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษาลำปาง, วิทยาลัยเทคนิคลำปาง, ตลาดอัศวิน, ห้างเสรีสรรพสินค้า, 7-eleven สาขาตลาดออมสิน, โรงพยาบาลลำปาง, ตลาดเขลางค์นคร แอร์พอร์ต (ตลาดสนามบิน), ท่าอากาศยานลำปาง, โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย, โรงเรียนลำปางกัลยาณี, โรงแรมเวียงลคอร และโรงพยาบาล เขลางค์นคร-ราม

โดยระบบบริหารจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่และระบบ Mobile Application ของแพลตฟอร์มดิจิทัลบริการขนส่งสาธารณะดังกล่าว ประกอบด้วย 3 ระบบการทำงานหลัก ได้แก่

          ระบบสำหรับผู้ขับรถโดยสาร สามารถแสดงข้อมูลเมื่อมีการกดเรียกรถจากผู้โดยสารบนเส้นทางการเดินรถในรูปแบบของแผนที่ให้กับคนขับรถสาธารณะได้ โดยจะบอกข้อมูลจุดจอดรถในการรับส่งผู้โดยสาร แสดงจำนวนของผู้โดยสายในแต่ละจุดจอด จำนวนระยะทางที่จะถึงในจุดจอดถัดไปได้

          ระบบสำหรับผู้โดยสาร ผู้โดยสารสามารถกดเรียกรถโดยสารหรือดูข้อมูลตารางการเดินรถ ข้อมูลเส้นทางการเดินรถได้ โดยเมื่อกดเรียกรถระบบจะแสดงจุดจอดรถเสมือนจริงที่ใกล้ที่สุด (Virtual Bus Stop) เส้นทางการเดินรถ หมายเลขรถ รวมถึงตำแหน่งปัจจุบันของรถโดยสารแบบเรียลไทม์ เพื่อให้ผู้โดยสารทราบระยะเวลาที่รถจะมาถึง ณ จุดจอดล่วงหน้าได้

          ระบบหลังบ้านสำหรับผู้ดูแล ระบบนี้จะแสดงข้อมูลรายงานสรุปการเดินรถ ภาพรวมปริมาณรถโดยสารที่ให้บริการ อัตราการใช้งาน ในรูปแบบแผนภูมิต่างๆ ที่สามารถเข้าใจได้ง่าย เพื่อให้สามารถบริหารจัดการข้อมูล การเพิ่ม ลด หรือแก้ไขข้อมูลต่างๆ ได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น

สำหรับการใช้งานแอปพลิเคชัน “MooVe” เมื่ออยู่ใกล้เขตบริการ สามารถกำหนดพิกัดจุดหมายที่จะเดินทางได้ โดยระบบจะทำการแจ้งจุดนัดหมายที่ใกล้ที่สุดในระยะทางไม่เกิน 500 เมตร ในขณะที่รถสาธารณะในเส้นทางจะได้รับการแจ้งเตือนว่ามีผู้เรียกใช้บริการ และจอดรับที่จุดนัด โดยมีระยะเวลารอไม่เกิน 15 นาที เพื่อไปส่งยังจุดหมายบนเส้นทาง โดยระบบจะประมวลผลยอดชำระค่าเดินทางแบบอัตโนมัติ ซึ่งรองรับการชำระเงินในรูปแบบออนไลน์ (scan)

ทั้งนี้ นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ยังให้ข้อมูลทิ้งท้ายถึงผลลัพธ์จากโครงการนี้ โดยคาดว่าจะเกิดการกระจายตัวของประชากร สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่จำนวนกว่า 210 ล้านบาท รวมถึงประชาชนสามารถได้รับประโยชน์ด้านการคมนาคมได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น ทั้งยังเข้าถึงระบบการบริการของรัฐและระบบสาธารณสุขได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย