วันจันทร์, 25 พฤศจิกายน 2567

หลากหลายไอเดียอุตสาหกรรม ชูธง ‘ลดคาร์บอน’ ตอบสนองนโยบาย ‘Carbon Neutrality’ ภายในปี 2050

Social Share

หลากหลายไอเดียอุตสาหกรรม ชูธง ‘ลดคาร์บอน’ ตอบสนองนโยบาย ‘Carbon Neutrality’ ภายในปี 2050

งาน FTI Expo 2022 : SHAPING FUTURE INDUSTRIES for STRONGER THAILAND ฉากทัศน์ใหม่อุตสาหกรรมไทยสู่อนาคต เพื่อประเทศไทยที่แข็งแกร่งกว่าเดิม  จัดโดย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ผนึกกำลังกับพันธมิตรในภาคอุตสาหกรรมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคการศึกษา มุ่งสู่เป้าหมาย ‘Carbon Neutrality’ ภายในปี 2050 ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แสดงเจตนารมย์ของประเทศไทยในงานประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ สก็อตแลนด์ สหราชอาณาจักร เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา  นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของประเทศไทยที่จะต้องบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศมากถึง 350 ล้านตันต่อปี ซึ่งคิดเป็นมูลค่า Hidden Liability มากถึง 1 ล้านล้านบาท

ที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมทั้งขนาดใหญ่และขนาดย่อยหลายรายทั้งในไทยและต่างประเทศ ได้ส่งสัญญาณและเริ่มปรับตัวเพื่อบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกไปสู่ธุรกิจยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยไม่ต้องรอนโยบายในระดับนานาประเทศบังคับใช้ เนื่องมาจากแรงกดดันจากภายนอกหลายประการเช่น ความคาดหวังของนักลงทุนในตลาดโลกให้ดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากจะต้องลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนแล้ว ยังคาดหวังให้เพิ่มการใช้พลังงานสะอาดด้วย พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป บทบาทของธุรกิจที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ลดน้อยลงเรื่อยๆ ตลอดจนแนวโน้มการกีดกันสินค้าและบริการที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงผ่านมาตรการทางการค้าระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญทำให้อุตสาหกรรมทุกภาคส่วนจำเป็นต้องมีความพร้อม  เดินหน้าปรับตัวเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน

ภายในงาน FTI Expo 2022 ได้มีการจัดแสดงแนวคิดและผลิตภัณฑ์จากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นไอเดียที่ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมในขนาดต่างๆ สามารถนำไปปรับใช้ได้ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการ ‘ปฏิรูป’ โครงสร้างอุตสาหกรรมให้มุ่งสู่อุตสาหกรรม Carbon Neutrality อย่างยั่งยืน อาทิ

สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย  นำเสนอ “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” ซึ่งหนึ่งในมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศในสาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (Industrial Processes and Product Use: IPPU) คือ การกำหนดให้ใช้วัสดุทดแทนปูนเม็ดในการผลิตปูนซีเมนต์ เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะก๊าซเรือนกระจก ซึ่งโดยปกติการผลิตปูนซีเมนต์จะมีกระบวนการเผาวัตถุดิบเพื่อเปลี่ยนให้เป็นปูนเม็ด ซึ่งเป็นขั้นตอนที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาประมาณ 800 kg-CO2 ต่อตันปูนเม็ด  ทางผู้ผลิตปูนซีเมนต์จึงนำวัสดุที่ใช้แทนปูนซีเมนต์มาเป็นส่วนผสมเพื่อทดแทนปูนซีเมนต์บางส่วน โดยที่ในอนาคตสมาชิกในสมาคมปูนซีเมนต์ไทยจะทยอยเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ เป็นปูนลดโลกร้อน (ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก) แทนที่ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ทั้งหมดในเร็วๆ นี้

SCG ชูธงแนวทาง ESG 4 Plus ได้แก่
1.Net Zero – มุ่งเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานคาร์บอนต่ำอย่างพลังงานชีวมวล (Biomass) จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและเชื้อเพลิงจากขยะในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ ใช้ลมร้อนเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตและพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงการปลูกต้นไม้ลดโลกร้อน 3 ล้านไร่ และป่าโกงกาง 3 หมื่นไร่ เพื่อช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 5 ล้านตัน
2.Go Green – มุ่งพัฒนานวัตกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น พิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ฉลาก SCG Green Choice เป็น 2 เท่าจาก 32% เป็น 67% ภายในปี 2030
3.Lean เหลื่อมล้ำ – มุ่งลดความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพที่ตลาดต้องการให้แก่ชุมชนรอบโรงงาน และ SMEs
4.ย้ำร่วมมือ – มุ่งสร้างความร่วมมือขับเคลื่อน ESG กับหน่วยงานระดับประเทศ อาเซียน และระดับโลก เช่น รีไซเคิลกล่องกระดาษเหลือใช้ สร้างต้นแบบการจัดการขยะพลาสติก เปลี่ยนขยะพลาสติกใช้แล้วจากครัวเรือนเป็นพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง
Huawei นำเสนอโซลูชันอุตสาหกรรม Low Carbon Campus & Datacenter เครือข่ายอัจฉริยะที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ โดย หัวเว่ยได้วางแผนและปรับ Datacenter เน้นการใช้งานง่ายและทำการบำรุงรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แยกซ่อมแซมได้เฉพาะโมดูลที่มีปัญหา โดยที่ส่วนอื่นก็ยังสามารถทำงานได้ปกติ และ Remote Units (RUs) ที่ประหยัดพลังงาน โดยลดสายเคเบิลที่จำเป็นลงมากกว่า 75% และลดการใช้พลังงานของเครือข่ายทั้งหมดลงประมาณ 30% เหมาะสำหรับการใช้งานทั้งในออฟฟิศ โรงแรม หอพัก ศูนย์ดูแลสุขภาพ สนามกีฬา สถานี และอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์จากพาร์ทเนอร์ของหัวเว่ยมาจัดแสดงด้วย อาทิ Robotics แขนกลอัจฉริยะ จาก SIASUN ที่มีทั้งความเงียบ ความลื่นไหลของการทำงาน สร้างคาร์บอนต่ำ และช่วยประหยัดพลังงานภายในโรงงานได้ดี
GC บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)  ผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์ระดับสากล เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต โดยดำเนินธุรกิจเคมีภัณฑ์แบบครบวงจร และใช้นวัตกรรมสร้างสรรค์เคมีภัณฑ์เพื่ออนาคต ได้นำเสนอ BIO-BASED SOLUTION ผลิตภัณฑ์ต่างๆที่เน้นการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภค ผ่าน Core Value 4 ดี ได้แก่
ดีที่ต้นทาง – ใช้วัตถุดิบหมุนเวียนจากธรรมชาติ ที่ดูดซับก๊าซเรือนกระจก สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตผลทางการเกษตร
ดีที่กระบวนการ – ผลิตจากกรบวนการที่ใช้นวัตกรรมและเทคดนโลยีที่ทันสมัย ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า
ดีที่ผลิตภัณฑ์ – เป็นผลิตภัณฑืที่หลากหลาย ปลอดภัย ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ
ดีที่สิ่งแวดล้อม – ย่อยสลายได้ในสภาวะที่เหมาะสม ลดปัญหาขยะ และการฝังกลบอย่างยั่งยืน

ปัจจุบัน ผู้นำธุรกิจและรัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกกำลังมุ่งมั่นวางแผนกำหนดนโยบาย Carbon Net Zero ให้เป็นเป้าหมายระดับชาติ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนักลงทุนและผู้บริโภคต่างก็ตระหนักถึงภัยคุกคามดังกล่าว และเริ่มให้ความสำคัญกับการสนับสนุนบรรดาธุรกิจที่นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการคาร์บอนต่ำกันมากขึ้น ภาคอุตสาหกรรมทั้งขนาดใหญ่และขนาดย่อยจึงควรให้ความสนใจอย่างจริงจัง และปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้เป็น Carbon Neutrality และปลายทางสู่  Carbon Net Zero เพื่อสนับสนุนการแก้ไขวิกฤตสภาพอากาศด้วยแผนการที่มีความชัดเจนและน่าเชื่อถือในทางปฏิบัติ อีกทั้งการลดคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือนนี้ยังสร้างคุณค่าตามที่นักลงทุนและผู้บริโภคคาดหวังด้วย

Carbon Neutrality จะกลายเป็นกลยุทธ์ใหม่ที่ช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมไทยแตกต่างเหนือคู่แข่ง มีโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจและได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่มากขึ้น ในทางตรงกันข้าม ภาคอุตสาหกรรมที่ไม่ปรับตัวย่อมมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดและความเชื่อมั่นจากนักลงทุนและผู้บริโภค เพราะวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลกทุกวันนี้เป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องช่วยดูแลซึ่งกันและกัน