เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 7 กันยายน 2564 นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 พร้อมด้วยคณะผู้บริหารในสังกัดสำนักงานชลประทานที่ 1 มีกำหนดลงพื้นที่ติดตามงานการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยปี 2564 ในเขตสำนักงานชลประทานที่ 1 เป็นวันที่ 2 ในการนี้ได้สำรวจอาคารทางทิ้งน้ำห้วยทราย พร้อมทั้งรับฟังบรรยายการบริหารจัดการน้ำหลากจากพื้นที่ฝั่งตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ และการบริหารจัดการน้ำแก้มลิงในเขตพื้นที่โครงการฯโดยมีนายวศิน ลีลาชินาเวศ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง พร้อมด้วยนายเชษฐพงศ์ นันทิทรรภ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน เป็นผู้บรรยาย ณ ประตูระบายน้ำบ้านดอนชัย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ในเวลา 14.15 น. ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 พร้อมคณะ ได้เดินทางไปยังหมู่บ้านเชียงใหม่การ์เด้นแลนด์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสำรวจจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และการเตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือกรณีพื้นที่ดังกล่าวเกิดน้ำท่วมขัง โดยมีนายเฉลิมเกียรติ อินทกนก ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล เป็นผู้บรรยาย นอกจากนี้ยังได้ติดตามการเตรียมความพร้อมบริเวณจุดผันน้ำจากน้ำแม่ออนลงคลองส่งน้ำสายใหญ่ โดยมีนายอัธยา อรรณพเพ็ชร ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา และกิตติ์วริศ ภัตเชียรโชติ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน เป็นผู้บรรยาย
นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 ได้กล่าวว่า ที่ผ่านมาปัญหาน้ำท่วมในจุดเดิมของเมืองเชียงใหม่ สามารถแบ่งออกเป็น 3 พื้นที่หลักๆได้แก่ พื้นที่ฝั่งตะวันตก พื้นที่ลุ่มต่ำฝั่งตะวันออก และพื้นที่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ในส่วนที่กรมชลประทานรับผิดชอบ ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 ที่ผ่านมาได้ตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำในลำน้ำแม่ปิง ซึ่งจุดสำคัญอยู่ที่ประตูระบายน้ำป่าแดด เป็นจุดระบายน้ำหลากที่สามารถปล่อยน้ำออกจากตัวเมืองได้เร็ว และมีความพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์
สำหรับวันนี้ทางชลประทานที่ 1 ซึ่งดูแลในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่, ลำพูน และแม่ฮ่องสอน ได้ดูสภาพปริมาณน้ำฝนพบว่าในปีนี้ปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าเกณฑ์ทั้ง 3 จังหวัด เมื่อฝนน้อยก็ส่งผลในภาพรวมของน้ำในเขื่อนที่มีปริมาณน้ำน้อยลงด้วย โดยเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลมีปริมาณน้ำอยู่ 35 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 18 เปอร์เซ็นต์ ปกติในช่วงฤดูฝนปริมาณน้ำควรจะมากกว่านี้ แม้ว่าฝนจะตกแต่ก็ตกในเขื่อนน้อย ดังนั้นทางกรมชลประทานจึงได้อาศัยน้ำฝนในการปลูกข้าวนาปีเป็นหลัก และสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแผนการปลูก 490,000 กว่าไร่ ขณะนี้ปลูกไปแล้ว 95 เปอร์เซ็นต์
ในวันนี้ได้เดินทางไปดูความพร้อมในด้านทิศตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ เมื่อฝนตกหนักและได้ไหลหลากลงจากดอยสุเทพ เพื่อจะเข้ามาสู่ตัวเมืองเชียงใหม่ เมื่อน้ำท่วมก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งทางชลประทานก็มีโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง จะมีคลองชลประทานที่ไหลมาจากแม่แตง แม่ริม เมืองเชียงใหม่ หางดง และสันป่าตอง ซึ่งคลองแม่แตงที่อยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อน้ำไหลลงคลองสายนี้ แต่เมื่อมีปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างหนักพร้อมกัน น้ำจากห้วยช่างเคี่ยนและน้ำจากลำน้ำห้วยแก้ว ก็จะเอ่อล้นไหลลงเอ่อล้นลงมาเพื่อจะไหลเข้าท่วมพื้นที่เศรษฐกิจตัวเมืองเชียงใหม่ ก็จะมีเครื่องสูบน้ำในการสูบลงสู่คลองชลประทาน ขณะเดียวกันลำคลองแม่ข่า เมื่อมีปริมาณฝนตกลงมาอย่างหนักก็จะมีการเอ่อล้นได้เพราะรับน้ำมาจากพื้นที่ต่ำอย่างตัวเมืองเชียงใหม่ และปล่อยออกสู่ลำน้ำปิง ซึ่งจะถูกปล่อยออกมาตามคลองแม่ข่ามาที่ประตูระบายน้ำบ้านดอนชัย ตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่ เมื่อมีน้ำปริมาณมากก็จะเร่งสูบออกไปสู่ลำน้ำปิง หากมีปริมาณน้ำน้อยก็จะยกบานประตูเพื่อปล่อยน้ำตามปกติ การตรวจสอบความพร้อมในภาพรวมทั้งโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง และการบริหารจัดการน้ำในคลองแม่ข่า ก็มีความพร้อมอย่างมากที่จะป้องกันน้ำท่วมให้กับตัวเมืองเชียงใหม่
สำหรับจุดน้ำท่วมซ้ำซากในตัวเมืองเชียงใหม่ มีทั้งหมด 2 หมู่บ้าน อยู่ในหมู่บ้านลากูนาโฮมเฟส 1 และหมู่บ้านเชียงใหม่การ์เดนแลนด์ ซึ่งผู้ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านทั้ง 2 แห่ง เมื่อมีน้ำท่วมหนักก็จะขอให้ทางชลประทานเข้าไปช่วยเหลือในการสูบน้ำออกจากพื้นที่ ในขณะนี้ทางชลประทานได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำไว้พร้อมแล้ว แม้ว่าฝนตกหนักในพื้นที่ก็สามารถสูบน้ำไปทางคลองส่งน้ำที่อยู่ใกล้กับหมู่บ้านเชียงใหม่การ์เด้นท์แลนด์ ได้ภายใน 2 ชั่วโมง และในพื้นที่เสี่ยงที่อาจเกิดปัญหาอุทกภัยอื่นๆ สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้กำหนดพื้นที่ กำลังคน และจัดสรรเครื่องจักร-เครื่องมือในการปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือไว้แล้ว โดยมีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และจัดทำแผนที่ปฏิบัติการ (One Map) เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานในภาวะวิกฤติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พื้นที่ฝั่งตะวันออกของเมืองเชียงใหม่ ก็คือพื้นที่อำเภอสันกำแพง โดยมีลำน้ำแม่ออน หากมีปริมาณน้ำไหลผ่าน 43 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก็จะเกิดการท่วมในพื้นที่ได้ โดยทางชลประทานจะใช้ฝายกู่เบี้ยที่อยู่ด้านบน ในการบริหารจัดการน้ำ โดยลดปริมาณน้ำให้เหลือ 12 ลูกบาศก์ต่อวินาที และผันน้ำลงคลองเหมืองลึกอีก 8 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที บริเวณประตูระบายน้ำแม่ออน ซึ่งทั้ง 2 ช่องทางจะสามารถเพื่อลดปริมาณน้ำที่ไหลหลากเข้าสู่ตัวอำเภอสันกำแพง ให้เหลือเพียง 23 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยไม่มีผลกระทบกับบริเวณพื้นที่เมืองสันกำแพง
เรื่องมาใหม่
- AIS ผนึก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจไซเบอร์เปิด “มาตรการระเบิดสะพานโจร” บุกรวบจีนเทา พร้อมเครื่องส่ง SMS ปลอม
- เชียงราย จัดกิจกรรมเสริมสร้างความเข้มแข็งระบบกลไกเครือข่ายทีมสหวิชาชีพด้านเด็กและเยาวชน
- (คลิป) ตำรวจแม่จัน เชียงราย จับสึกพระเมาเหล้าขอปัจจัย
- เจ้าคณะจังหวัดแม่ฮ่องสอน อนุโมทนา “ปิดเทศกาลนมัสการพระธาตุดอยกองมู ( ลอยกระทงสวรรค์) ประจำปี 2567”
- “น้องโบว์ลิ่ง” คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดหนูน้อยนพมาศเมืองยวมใต้ ประจำปี 2567