วันศุกร์, 22 พฤศจิกายน 2567

ผู้ว่าฯ แม่ฮ่องสอน ลงพื้นที่สบเมย ตรวจอุทกภัยน้ำป่าไหลหลาก เน้นการป้องกันลดการสูญเสีย

Social Share

ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ลงพื้นที่ อ.สบเมย ตรวจติดตามการเตรียมความพร้อมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์วาตภัย อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม เน้นการป้องกันไว้ก่อน เพื่อลดปัญหาและลดความสูญเสีย

วันที่ 11 มิถุนายน 2564 นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายชนก มากพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายชนาธิป เสมแย้ม ปลัดจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมด้วย นายเรืองฤทธิ์ ผลดี หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแม่ฮ่องสอน เดินทางตรวจติดตามการเตรียมความพร้อมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์วาตภัย อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ระดับอำเภอ ณ ห้องประชุมอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีนายผะอบ บินสะอาด นายอำเภอสบเมย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ ฯ นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ปกครองอำเภอ /ท้องถิ่นอำเภอ / หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 36 /ตำรวจภูธรสบเมย / ทหารพรานที่ 3601 / กศน.อำเภอสบเมย/สาธารณสุขอำเภอสบเมย/ รพ.สบเมย / พัฒนาการอำเภอสบเมย / เกษตรอำเภอสบเมย / การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขาย่อยอำเภอสบเมย/ หมวดทางหลวงแม่สะเรียง / อปท.ในพื้นที่ / กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตัวแทนภาคประชาชน ร่วมประชุมคณะทำงานปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวาตภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มจังหวัดแม่ฮ่องสอน ปี 2564 เพื่อรับทราบปัญหาพื้นที่ประสบอุทกภัยซ้ำซากในเขต อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน

จากการรายงาน อำเภอสบเมยประสบภัยพิบัติในแต่ละปี ได้แก่ น้ำในแม่ยวม แม่น้ำเงา เอ่อล้น ท่วมพื้นที่การเกษตร บ้านเรือน ท่วมพื้นที่ถนน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม โดยเหตุการณ์ภัยพิบัติดินโคลนถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ในอดีตที่มีผู้เสียชีวิต จำนวน 9 ราย บ้านเรือนเสียหาย 10 หลังคาเรื่อน เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2554 ณ บ้านปู่ทา หมู่ที่ 6 ตำบลแม่สวด อ.สบเมย และเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 ณ พื้นที่พักพิงชั่วคราว ฯ บ้านแม่ละอูน มีผู้เสียชีวิต 5 ราย สูญหาย 3 ราย บ้าน ผภร.เสียหาย 13 หลังคา ทั้งนี้ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์วาตภัย อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มอำเภอสบเมย ได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ โดยการจัดตั้งกองอำนวยการแก้ไขปัญหาวาตภัย อุทุกภัย ฯ ระดับตำบล พร้อมเป็น Warroom ติดตามสถานการณ์ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ภายหลังการประชุม ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้เดินทางไปสำรวจพื้นที่เกิดอุทกภัยซ้ำซาก จุดแรกคือถนนเข้าไปยังที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่เงา มีน้ำป่าไหลหลากท่วมถนนเสียหายทุกปี ต่อจากนั้นเดินทางไปยังพื้นที่บ้านแม่ทะลุ หมู่ที่ 5 ซึ่งได้รับผลกระทบ จากแม่น้ำยวมไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่การเกษรและบ้านเรือน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้สั่งการให้มีแผนงาน/โครงการที่จะต้องแก้ไขปัญหา ทั้งการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และการแก้ไขปัญหาในระยะยาว โดยเฉพาะพื้นที่เกิดภัยซ้ำซาก ในทุก ๆ ปี พื้นที่สุ่มเสี่ยง พื้นที่เปราะบาง โดยให้เน้นการป้องกันไว้ก่อน เพื่อลดปัญหาและลดความสูญเสียให้มากที่สุด