วันจันทร์, 25 พฤศจิกายน 2567

“กาดนัดสีเขียวครอบครัว ม.ก.” พ่อเมืองเชียงใหม่หวังสร้างเครือข่ายแนวร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจพื้นที่ไปพร้อมๆกับนโยบายของรัฐบาล ชื่นชมหลายภาคส่วนร่วมมือกันสู้วิกฤตโควิด-19

Social Share

พ่อเมืองเชียงใหม่หวังสร้างเครือข่ายแนวร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจพื้นที่ไปพร้อมๆกับนโยบายของรัฐบาล ชื่นชมหลายภาคส่วนร่วมมือกันสู้วิกฤตโควิด-19 โดยเฉพาะสื่อช่วยให้ข้อมูลดีและสร้างความตระหนักรู้ ความเข้มแข็งชุมชน “กาดนัดสีเขียวครอบครัว ม.ก.”เป็นอีกต้นแบบที่ยกตลาดเกษตรสู่ช่องทางออนไลน์ได้ผลเกิดคาด

เชียงใหม่ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เปิดเผยหลังหารือกับทุกภาคส่วนเพื่อเตรียมกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่ไปพร้อมๆกับนโยบายของรัฐบาลที่เร่งฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤตโควิด-19 ตลอดตั้งแต่ปี 2563 จนขณะนี้ ที่กลับมาระบาดอีกระลอกและสร้างผลกระทบที่แรงขึ้น เชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลักรายได้สำคัญเกิน 70% มาจากภาคการท่องเที่ยวและบริการราว 8-9 หมื่นล้านบาทต่อปี พอเกิดปัญหาก็มีผลกระทบหนักต่อระบบเศรษฐกิจต่างๆที่เกี่ยวข้องและการจ้างงานในพื้นที่ หลายกิจการปิดตัวโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว โรงแรมที่ 5-10 ปีก่อนหน้านั้นได้อานิสงค์มากจากนักท่องเที่ยวจีนและต่างประเทศ พอไม่มีการเดินทางหรือนักท่องเที่ยวหายไปหมดรายได้ก็เป็นศูนย์ คนตกงานจำนวนมากต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและสร้างผลกระทบในวงกว้างมาก โดยการระบาดรอบที่สองก็ทำให้ผลกระทบหนักเพิ่มอีก แต่ก็ยังพอมีทางออกเพื่อบรรเทาผลกระทบเพราะส่วนหนึ่งก็มีความเข้มแข็งขากภาคเกษตรกรรม มีอาหารและยังสร้างรายได้ด้วย แต่ก็ยังมีผลกระทบจากกำลังซื้อของประชาชนที่ขาดรายได้จึงทำให้การค้าขายไม่คึกคักเท่าที่ควร

แต่จากการการวิเคราะห์เหตุปัจจัยล่าสุดสถานการณ์การระบาดในพื้นที่และประเทศดีขึ้น มาตรการฟื้นฟูแลผ่อนคลายต่างๆเริ่มมีการให้ประกอบกิจการต่างๆได้ภายใต้การเฝ้าระวังแบบ New Normal ใส่แมส เว้นระยะห่างและสุขอนามัย ล้างมือ เริ่มมีกิจกรรมกระตุ้นส่งเสริมจากภาครัฐ ในเชียงใหม่ก็ได้หารือทุกฝ่ายทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชนทุกภาค ภายใต้ความร่วมมือสู้วิกฤตครั้งนี้จึงเกิดความร่วมมือกัน เช่น We love Chiang Mai ที่กำลังพยามหากิจกรรมมารองรับช่วยเหลือกันตอนนี้ทั้งกิจกรรมกีฬา ส่งเสริมการขาย กระตุ้นท่องเที่ยว และอีกหลายๆอย่างที่กำลังทำพร้อมๆกับการแก้ไขปัญหาสำคัญของพื้นที่ในแต่ละฤดูกาลไปด้วยเช่นตอนนี้คือการรับมือหมอกควันไฟป่า PM 2.5 เป็นต้น สำคัญมากคือประชาชนต้องมีส่วนร่วมและช่วยกันได้มาก คาดหวังว่าจะสามารถกระตุ้นฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจเชียงใหม่กลับมาขยายตัวปีนี้ได้ 2-3% จากปีก่อน จากสัญญาณต่างๆที่พบ เช่น เริ่มมีการค้าขายตามตลาดต่างๆ แม้จะยังไม่เต็ม 100 เพราะต้องเป็นแบบ New Normal มีการสั่งซื้อสินค้าเกษตรและผลผลิตต่างๆ มากขึ้นจากการผ่อนคลาย มาตรการหนุนเสริมจากรัฐทั้ง คนละครึ่ง เราชนะ เที่ยวด้วยกัน เริ่มมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ การท่องเที่ยวเริ่มดีขึ้นมากราว 50%มีสัญญาณดีต่อเนื่อง

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ยังได้กล่าวชื่นชมสื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและกระตุ้นเตือนประชาชนให้เกิดความร่วมมือกันจนสามารถแก้ปัญหาการระบาดได้ดีจนวันนี้เชียงใหม่ไม่พบการติดเชื้อระลอกนี้เกินเดือนกว่าแล้ว หลายสื่อนอกจากทำหน้าที่สื่อแล้วยังเพิ่มช่องทางเพื่อบรรเทาผลกระทบแก่ประชาชนด้วย เช่น สถานีวิทยุ ม.ก.เชียงใหม่ที่มีการเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรมาจำหน่ายผลผลิตที่ปลอดภัยและแบบอินทรีย์โดยไม่เก็บค่าพื้นที่ใดๆให้เกษตรกรดูแลช่วยกันทำทุกวันเสาร์ ทราบว่าทำมากว่าสิบปีแต่ช่วงวิกฤตโควิด-19 ตลาดเปิดไม่ได้เพราะเสี่ยง ก็เปิดพื้นที่ทางออนไลน์ สร้างตลาดการค้าขายผ่านเฟสบุ๊ค กลุ่ม “กาดนัดสีเขียวครอบครัว ม.ก.”ตั้งแต่กลางปี 2563 ที่เกิดผลกระทบจากวิกฤตครั้งแรก กลายเป็นเพิ่มช่องทางตลาดออนไลน์ได้กว้างขึ้น และกลายเป็นต้นแบบให้หลายๆตลาดเอาไปทำเกิดชุมชนตลาดออนไลน์เชื่อมโยงเพิ่ม ทั้งนี้ทางเกษตรจังหวัดและสำนักงานพาณิชย์จังหวัดที่ติดตามสถานการณ์ก็ได้นำแนวทางนี้ไปขยายผลด้วย ในการประชุมนายอำเภอประจำเดือนตนได้ให้แนวคิดแบบนี้ให้แต่ละอำเภอไปออกแบบเพื่อเพิ่มช่องทางพื้นที่ตนเองด้วย

สำหรับช่องทางตลาดออนไลน์ นางภูษณิศ ไชยมณี ผู้อำนวยการกลุ่มกำกับดูแลและพัฒนาเศรษฐกิจการค้า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า ได้ติดตามภาวะเศรษฐกิจภาพรวมในพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ หอการค้า สภาอุตสาหกรรม และธุรกิจด้านต่างๆ ในเชียงใหม่ ยังประสบปัญหาในภาพรวม แต่ดีขึ้นจากช่วงก่อนหน้านี้มาบ้าง ส่วนภาคการเกษตรถือว่ามีความเข้มแข็งแม้บางรายการยังประสบปัญหาเรื่องราคา ตั้งแต่การระบาดโควิด-19 ตลาดการส่งออกแทบหายไปเหลือแต่ภายในที่กำลังซื้อหด สินค้าเกษตรหลายรายการเดือดร้อนหนัก แต่การค้าทางออนไลน์กับพุ่งสูงมากเพราะเป็นช่องทางที่ทุกคนเริ่มปรับมาทำ บางแห่งทำเกือบ 100% ระบบตลาดนัดต่างๆก็หันมาใช้ออนไลน์ช่วยได้มาก กาดนัดสีเขียวครอบครัว ม.ก.ก็ถือเป็นต้นแบบต้นๆที่ทำและหลายส่วนก็มาต่อยอด สำนักงานพาณิชย์เชียงใหม่ก็เปิดพื้นที่เป็น ตลาดพาณิชย์ ให้ประชาชนใช้เป็นสื่อกลางซื้อขาย ซึ่งมีระบบ AI ตรวจสอบแม่นยำมาก มีการตรวจสอบกันเองอีกทางทำให้มีพื้นที่เพิ่มอย่างมากตอนนี้

ด้าน ผศ.อนุพร สุวรรณวาจกกสิกิจ ผู้อำนวยการใหญ่สถานีวิทยุ ม.ก. ที่มีเครือข่ายสี่ภูมิภาคทั้ง บางเขน ขอนแก่น สงขลาและเชียงใหม่กล่าวว่า ด้วยพันธกิจบทบาทของสื่อที่เน้นการให้องค์ความรู้สู่การปฏิบัติ โดยเฉพาะการนำศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน เป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โดยสถานีวิทยุ ม.ก.ได้ถือปฏิบัติมากว่าครึ่งศตวรรษ การบริการสาธารณะจึงเป็นหัวใจสำคัญ ในห้วงวิกฤตของสื่อมวลชนที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและพฤติกรรมการรับสื่อของสังคมอย่างท้าทาย ยังมาพบกับวิกฤตโรคระบาดรุนแรงของโลกครั้งนี้ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่ด้วยภารกิจการบริการสาธารณะที่ทำนั้นก็ได้ให้นโยบายทีมงานเพื่อปรับตนเองและสร้างช่องทางและโอกาสให้แก่ประชาชน การบริการข่าวสาร องค์ความรู้จึงพัฒนาแพล็ตฟอร์มต่างๆ รวมทั้งระบบออนไลน์มาให้บริการด้วยและส่งเสริมกิจกรรมหนุนเสริมความเข้มแข็งของประชาชนไปพร้อมกัน การให้พื้นที่แบบกาดนัดออนไลน์ ก็เป็นอีกช่องทางที่เป็นสื่อกลางให้ ที่ลดความเสี่ยงโรคระบาดและเป็นโอกาสแก่เกษตรกรและประชาชนด้วย ที่สำคัญเป็นการสร้างมิติสัมพันธ์ภาพลักษณ์ที่ดีของมหาวิทยาลัย สถานีวิทยุกับประชาสังคมไปด้วย

ขณะที่ทีมพัฒนาเนื้อหาและแพล็ตฟอร์มออนไลน์ของสถานีวิทยุ ม.ก.เชียงใหม่ KUR+ เผยว่า กาดนัดแบบออนไลน์เปิดตัวเมื่อกลางปี 2563 ซึ่งเป็นช่องทางที่เฟสบุ๊คมีไว้ให้ทุกคนได้ใช้สื่อสารกิจกรรมกัน ซึ่งเห็นว่ามีกลุ่มต่างๆ เกิดขึ้นมหาศาล จึงทำกลุ่มตลาดนี้มาเชื่อมโยงกับตลาดนัดที่ทำทุกเสาร์ ให้สมาชิกพ่อค้าแม่ค้ามาค้าขายในออนไลน์ตลาดกลางนี้ อีกทั้งยังสื่อสารข้อมูลองค์ความรู้แลกเปลี่ยนกันด้วย และเพื่อมีปฏิสัมพันธ์เกิดขึ้นกลุ่มก็ขยายตัวไม่เฉพาะพ่อค่าแม่ค้า ยังมีกลุ่มคนที่สนใจสินค้า องค์ความรู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ขยายฐานไปทั่วประเทศ บางรายอยู่ต่างประเทศก็มี แม้จะไม่มีสมาชิกมากเป็นหมื่นแสนรายแต่จากจุดเล็กๆไม่กี่สิบรายตอนนี้ครบปีก็มีกว่า 4-5 ร้อยราย มีมูลค่าการซื้อขายต่อรายเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวจากตลาดปกติ อีกทั้งยังเชื่อมโยงอย่างหลากหลายในการเรียนรู้ หลายกลุ่มใช้เป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ทั้งภาครัฐ เอกชน เกษตรกร รวมถึง ธ.ก.ส. องค์กรต้นแบบกาแฟพยัคฆ์ แม่แจ่ม ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเพาะเห็ดโคนปลวก เห็ดป่าเห็ดตับเต่า “ครูเจี๊ยบพารวย” และมีหลายจังหวัดทั้งเชียงราย พะเยา ลำปาง หรือภาคตะวันออก อีสาน ใต้ กรุงเทพฯ ก็มี ซึ่งอนาคตเครือข่ายเหล่านี้ก็สามารถพัฒนาต่อยอดสร้างความเข้มแข็งร่วมกันได้อีกมาก ปัจจุบันมีการเชื่อมโยงกันทั้ง สถานีวิทยุ เฟสบุ๊ค ไลน์ ยูทูป อินสตาแกรมและเว็ปไซต์ รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมวิชาการอื่นๆ หลักสูตรวิทยุออนไลน์ ออนแอร์ เพื่อการเรียนการสอน โรงเรียนทางอากาศ ผู้สูงอายุ, ปุ๋ยสั่งตัด, ยางพารา, ข้าวและชาวนา ฯลฯ อนาคตก็เชื่อว่าจะมีการพัฒนาต่อยอดอีกหลายๆช่องทางในยุคดิจิทัล

ด้านนายบุญศรี​ ขัดพูน​ เกษตรกรสมาชิกตลาดครอบครัว​ ม.ก.ที่จำหน่ายข้าวอินทรีย์​และผลผลิต​การเกษตร​ปลอดสารพิษ​จากอำเภอสันกำ​แพง​กล่าวว่า​ ปกติมาขายที่ตลาดทุกเสาร์​มีลูกค้าประจำและขาจร​ พอมีโควิด-19​ ระบาดไม่ได้ขายที่ไหนต้องอาศัย​ระบบออนไลน์​ทักไปหาลูกค้า​ประจำก็พอได้แต่รายได้หายไปมาก​ แต่สถานีวิทยุ​ ม.ก.มีเพิ่มช่องทางให้ทางเฟสบุ๊ค​ก็สามารถมีโอกาสขายของได้และรู้จักทั้งพ่อค้าและลูกค้า​เพิ่มขึ้นด้วย​ เช่นเดียวกับ​นายกฤษฏ์ พยัคกาฬ ผู้ก่อตั้งและรองประธานกลุ่มวิสาหกิจพยัคฆ์คอฟฟี่ ( Payak Coffee) ต.กองแขก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ต้นแบบวิสาหกิจ​ตามแนวปรัชญา​เศรษฐกิจพอเพียง​ขอว​ ธ.ก.ส.กล่าวว่า​ เป็นเรื่องที่ดีมากที่สื่ีอให้ความสำคัญ​กับชาวบ้านและช่วยเพิ่มโอกาสการตลาดออนไลน์​นอกจากการให้ข่าวสารดีๆ​ ตนก็ใช้พื้นที่นี้แลกเปลี่ยน​เรียนรู้และสื่อสารได้กว้างขวางช่วยหนุนเสริมกิจการ​ได้มาก

สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มในการปฏิสัมพันธ์ทั้งการให้ความรู้ การซื้อขาย การประชาสัมพันธ์ การให้ความรู้ การประชุมสัมมนา ที่เกิดขึ้นในแพล็ตฟอร์มโซเชียล ของวิทยุ ม.ก.เฉพาะกลุ่มในเฟสบุ๊ค(ตามลิ้งค์ที่แนบ)https://www.facebook.com/groups/839042973281780 , https://www.facebook.com/groups/839042973281780/media