ป.ป.ช.แม่ฮ่องสอน ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการโซล่าเซลล์แก้ปัญหาภัยแล้งอำเภอแม่สะเรียง 6 แห่ง แต่ใช้การได้ 1 แห่ง เตรียมรวบรวมข้อมูลว่าโครงการดังกล่าวก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริงหรือไม่
วันที่ 18 มกราคม 2564 เวลา 19.30 น. ที่ห้องประชุมอำเภอแม่สะเรียง พ.ต.ท. ดร.ศิระปรุฬห์ ปวเรศจิรวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้แถลงข่าว ภายหลังลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงการติดตั้งโครงการโซล่าเซลล์แก้ปัญหาภัยแล้ง โดยได้เดินทางพร้อมเจ้าหน้าที่ ฝ่ายปกครองอำเภอแม่สะเรียง เจ้าหน้าที่จากองค์การบริหารส่วนตำบลแม่เหาะ เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรแม่สะเรียง และ สื่อมวลชนในพื้นที่ เพื่อตรวจสอบโครงการโซล่าเซลล์แก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ ต.แม่เหาะ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งมีทั้งหมด 8 แห่ง โดยเข้าทำการตรวจสอบในวันนี้ 6 หมู่บ้าน ประกอบไปด้วย บ้านแม่ลิดป่าแก่ บ้านแม่สลี บ้านกิ่วลม บ้านแม่กะไน บ้านแม่จ๊าง และ บ้านห้วยป่ากั้ง ซึ่งทั้ง 6 หมู่บ้าน สามารถใช้การได้ 1 หมู่บ้าน
พ.ต.ท. ดร.ศิระปรุฬห์ ปวเรศจิรวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน ระบุว่า การเข้าตรวจสอบโครงการโซล่าเซลล์แก้ปัญหาภัยแล้ง ในครั้งนี้ ต้องตรวจสอบว่าโครงการนี้เป็นงบประมาณของผู้ใด มีการจัดซื้อจัดจ้างถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ โครงการดังกล่าวมีความคุ้มค่าให้ประโยชน์กับประชาชนคุ้มกับงบประมาณที่ลงไปหรือไม่ เท่าที่มีการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าโครงการนี้แต่ละจุดมีมูลค่าเกือบสองล้าน แต่ไม่สามารถใช้งานได้จริง จากการเข้าตรวจสอบในพื้นที่ ต.แม่เหาะ 6 จุด พบมีเพียง 1 จุดเท่านั้นที่สามารถใช้งานได้ คือ บ้านกิ่วลม จุดอื่นๆ ที่ไม่สามารถใช้งานได้มีสภาพปัญหาที่แตกต่างกันออกไป บางจุดไม่สามารถใช้งานได้ตั้งแต่เริ่มแรก บางจุดสามารถใช้งานได้ในระยะแรก1 – 2 เดือน เท่านั้น ปัญหาที่พบคือ มีการปล่อยให้แผงโซล่าเซลล์ถูกทิ้งรกร้าง ไม่ได้รับการดูแล เครื่องสูบน้ำ เครื่องกรองน้ำไม่ทำงาน การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ จุดที่พักน้ำ อยู่ไกลสภาพภูมิประเทศไม่เอื้ออำนวย เป็นพื้นที่ราดชันสูง มีต้นไม้ใหญ่บดบังแสงแดดทำให้แผงโซล่าเซลล์ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับโครงการดังกล่าว เป็นโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในหน่วยงานภาครัฐ จากป้ายที่ติดไว้ ระบุว่าเป็นของ กอ.รมน.ภาค 3 ที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และกองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน วงเงินงบประมาณ 45,590,000 บาท ในการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์แก้ปัญหาภัยแล้งพร้อมระบบกรองน้ำในพื้นที่ 20 หมู่บ้าน มีสัญญาการก่อสร้าง 210 วันในปี 2561 แล้วเสร็จ วันที่ 4 กันยายน 2561
เรื่องมาใหม่
- (คลิป) เชียงราย ตำรวจท่องเที่ยวทลายเครือข่ายลักลอบขนต่างด้าวชาวจีนเข้าประเทศ เร่งขยายผล
- (คลิป) เชียงราย จับ “สามารถ” ดิไอคอนกรุ๊ป ปิดปากเงียบไม่ให้สัมภาษน์ DSI คุมตัวขึ้นเครื่อง สอบต่อกรุงเทพฯ
- (คลิป) เชียงราย ตม.เชียงแสน รวบ พระมาเลฯ ลักทรัพย์ หนีข้ามจังหวัด
- กองกำลังผาเมือง ปะทะคาราวานยาที่เชียงดาว ยึดยาได้ 2.6 ล้านเม็ด
- AIS ผนึก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจไซเบอร์เปิด “มาตรการระเบิดสะพานโจร” บุกรวบจีนเทา พร้อมเครื่องส่ง SMS ปลอม