วันจันทร์, 25 พฤศจิกายน 2567

วสท. เสนอแนะมุมมองในมาตรการกฎหมายห้าม “เบาหวาน-ความดัน” ขับรถ

Social Share

รายงานจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เผยแพร่ในปี 2561 ระบุว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับ 9 ของโลกด้านการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน จนนำมาสู่มาตรการแก้ปัญหาเพื่อลดความสูญเสีย เมื่อเร็วๆนี้ มีข่าวว่า กรมการขนส่งทางบก กำลังเสนอให้เพิ่มกลุ่มโรค “เบาหวาน-ความดัน-ลมชัก” ห้ามขับขี่ยานพาหนะ เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) โดย ศ.ดร.พิชัย ธานีรณานนท์ ประธานคณะอนุกรรมการสาขาการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนและการเสียชีวิต วสท. กล่าวว่า “ในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จะมีการแบ่งผู้ใช้ยานพาหนะออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

  1. ยานพาหนะส่วนบุคคลทั่วไป อาทิ รถเก๋ง รถกระบะ มอเตอร์ไซค์ ที่จดทะเบียนเป็นรถส่วนบุคคล
  2. ยานพาหนะสาธารณะ อาทิ รถบัสโดยสาร
  3. ยานพาหนะประเภทพิเศษ อาทิ รถบรรทุก รถพ่วง ซึ่งยานพาหนะกลุ่มที่ 1 แม้จะเป็นโรคเบาหวาน-ความดัน แต่หากสามารถดูแลตนเองตามคำแนะนำของแพทย์ได้ กฎหมายก็ยังอนุญาตให้ขับขี่ได้โดยที่ไม่ต้องรายงานกับหน่วยงานของรัฐที่ดูแลด้านการขนส่งทางบก เพียงแต่หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมากรณีไม่แจ้งขนส่งฯ ประกันภัยอาจสงวนสิทธิ์ที่จะช่วยจ่ายค่าเสียหาย หรือผู้ขับขี่อาจมีความผิดด้วย แต่ยังไม่ถึงขั้นไม่อนุญาตให้ขับขี่

ขณะที่กลุ่มที่ 2 กับกลุ่มที่ 3 กฎหมายกำหนดให้ต้องแจ้งให้ขนส่งฯ ทราบ และต้องมีใบรับรองแพทย์ด้วยว่าผู้ประสงค์จะขับขี่ยานพาหนะ กลุ่มนี้สามารถดูแลตนเองได้เนื่องจากบริการรถสาธารณะนั้นต้องรับผิดชอบชีวิตผู้โดยสาร ขณะที่รถบรรทุก-รถพ่วง เป็นพาหนะขนาดใหญ่หากเกิดอุบัติเหตุจะสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นรุนแรงกว่ารถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ทั่วไป

ส่วนโรคลมชักก็คล้ายๆ กัน ถ้าคุณไม่เคยชักภายใน 2 ปีที่ผ่านมา คุณก็ขับได้ ในอังกฤษ ในฝรั่งเศส อะไรพวกนี้คล้ายๆ กัน แต่บางประเทศไม่เหมือนกัน อย่าง สหรัฐอเมริกา ถ้าคุณไม่เคยชักภายใน 6 เดือน เขาก็ยอมให้คุณขับ แต่ตอนนี้บางรัฐเขาก็เปลี่ยนเป็น 1 ปี เช่น ฟลอริดา จาก 6 เดือน เขาก็บอกว่าภายใน 12 เดือนที่ผ่านมาถ้าคุณไม่เคยชักคุณมีสิทธิ์ขับ อันนี้โรคลมชัก แต่บางประเทศเขาไม่ให้ขับเลย อย่างเช่น อินเดีย จีน ถ้าคุณมีประวัติว่าเคยเป็นโรคลมชัก ไม่ว่าคุณจะหายมาแล้วกี่ปีเขาก็ไม่ให้ขับ”

สิ่งหนึ่งที่ประเทศไทยเราต้องทำ หากต้องการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน คือ ก่อนจะสอบใบขับขี่ อันหมายถึงการได้รับอนุญาตให้ขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนนนั้น ในต่างประเทศมีการฝึกอบรม ค่อนข้างยาวนานพอสมควร เพื่อให้การขับขี่กลายเป็นทักษะที่เคยชิน และลดความเสี่ยงเมื่อออกสู่ถนนให้น้อยที่สุด เช่น ออสเตรเลีย ใช้เวลาเรียนทั้งหมด 120 ชั่วโมง ส่วนอังกฤษ ต้องผ่านการเรียนภาคทฤษฎี 45 ชั่วโมง ภาคปฏิบัติอีก 20 ชั่วโมง

หรือประเทศเพื่อนบ้านทางใต้ของไทย อย่างมาเลเซีย ต้องผ่านภาคทฤษฎี 6 ชั่วโมง เพื่อรับใบอนุญาตหัดขับรถ (Learner Driving License) โดยผู้ถือเอกสารนี้ต้องมารายงานตัวทุกๆ 3 เดือน เมื่อครบ 2 ปีแล้วจึงจะได้สอบใบขับขี่ แต่หากสอบไม่ผ่านก็จะต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่ ซึ่งระหว่าง 2 ปีที่ใช้ใบอนุญาตหัดขับรถนั้นจะมีข้อจำกัด เช่น ห้ามใช้ความเร็วเกิน 80 กม./ชม.ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดต้องเป็น 0 เป็นต้น ในขณะที่ประเทศไทย เป็นที่ทราบกันว่าอบรมภาคทฤษฎีเพียง5 ชั่วโมง และภาคปฏิบัติเพียง 10 ชั่วโมงเท่านั้นก็สามารถสอบใบขับขี่ได้แล้ว

ประเทศที่มีอัตราการตายจากอุบัติเหตุบนถนนน้อยๆ เขาใช้แบบนี้หมด คิดว่าอันนี้น่าจะเป็นประเด็นใหญ่กว่าเรื่องเบาหวาน-ความดัน ซึ่ง ก็คงมีบ้างคนที่กำลังขับรถอยู่แล้วฟุบ แต่คงไม่น่าจะเยอะเมื่อเทียบกับการตายของคนไทยจากอุบัติเหตุบนท้องถนน เฉลี่ยวันละ 60 ราย ซึ่ง 75% หรือประมาณ 42 ราย เป็นมอเตอร์ไซค์

ดังนั้นการแก้ปัญหาเพื่อลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ไม่ได้หมายความว่าเราไม่สนใจเบาหวาน-ความดัน เราก็ต้องสนใจเพราะทุกชีวิตมีค่าแต่ต้องทำควบคู่กันในหลายมิติจึงจะบรรลุเป้าหมาย

Cr. ฝ่ายประชาสัมพันธ์ วสท.