วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2567

(คลิป) เชียงใหม่ รมว.พม.เร่งอบรม อพม.ร่วมมือคนในชุมชน สร้างเกราะป้องกันการค้ามนุษย์ในเชียงใหม่

Social Share

15 ส.ค. 63 : ที่โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดโครงการ “รวมพลัง อพม.ต้านภัยค้ามนุษย์” ประจำปีงบประมาณ 2563 รุ่นที่ 1 โดยมี นางจิราพร เชาวน์ประยูร ยามาโมโต้ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่และเครือข่ายอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เข้าร่วมกว่า 200 คน

กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นอาชญากรรมที่มีความซับซ้อนและเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563 กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2563 (Trafficking In Persons Report 2020 : TIP Report) ซึ่งได้จัดระดับประเทศไทยอยู่ในระดับ 2 (Tier 2) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เช่นเดียวกันกับปี 2561 และปี 2562 เนื่องจากรัฐบาลไทยยังคงเพิ่มความพยายามอย่างสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการป้องกัน รัฐบาลได้มุ่งเน้นสร้างความตระหนักรู้ให้กับนักเรียน ครู ผู้นำชุมชน จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ทางสื่อออนไลน์และบนเครื่องบิน รวมถึงส่งเสริมการสร้างภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม เพื่อเฝ้าระวังระดับพื้นที่ในการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์

นอกจากนี้ กระทรวง พม. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ในบทบาทหน้าที่ของการดำเนินงานป้องกันและเฝ้าระวังปัญหาการค้ามนุษย์ในระดับพื้นที่ เพื่อเป็นกลไกในการสำรวจ ชี้เป้า เฝ้าระวัง และมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในระดับพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ก่ประชาชนไม่ให้ตกเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ สร้างแกนนำอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในชุมชน รวมทั้งเป็นการสร้างกลไกการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์แบบเชิงรุก ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในระดับพื้นที่มีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน จึงนำมาสู่การเปิดโครงการ “รวมพลัง อพม.ต้านภัยค้ามนุษย์” ประจำปีงบประมาณ 2563 รุ่นที่ 1 ในวันนี้

โดยตั้งเป้าจัดโครงการทั้งสิ้น 29 รุ่น ในพื้นที่จังหวัดที่มีสถานการณ์ความเสี่ยงของปัญหาการค้ามนุษย์ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจถึงสถานการณ์ รูปแบบ ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และการป้องกันตนเองจากภัยการค้ามนุษย์ เพื่อนำไปถ่ายทอดและขยายกลุ่มเป้าหมายในระดับพื้นที่ รวมถึงเป็นภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมในการเฝ้าระวังปัญหาระดับพื้นที่ชุมชน สร้างกลไกรับรองการชี้เป้า แจ้งเบาะแส ประชาสัมพันธ์สายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 และ Mobile app Protect-U ที่ใช้เป็นช่องทางสำหรับการประสานงานกรณีเกิดเหตุค้ามนุษย์ในพื้นที่ โดยจะเป็นรูปแบบที่เชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปราบปรามการค้ามนุษย์ให้มีประสิทธิภาพต่อไป