วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2567

สถาบันดาราศาสตร์ เผยแพร่ภาพ “ดาวหางนีโอไวส์” อวดโฉมเหนือฟ้าเชียงใหม่ ในรอบ 6 พันปี

Social Share

23 ก.ค. 63 : นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานักดาราศาสตร์และผู้คนทั่วโลกต่างให้ความสนใจดาวหางนีโอไวส์ ซึ่งเป็นดาวหางสว่างที่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าในหลายพื้นที่ทั่วโลก มีผู้เก็บภาพได้และเผยแพร่ลงในสื่อต่างๆ กันอย่างคึกคัก โคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และจะเข้าใกล้โลกที่สุดวันที่ 23 กรกฎาคม 2563

สำหรับประเทศไทยในช่วงครึ่งแรกของเดือนกรกฎาคม 2563 ดาวหางนีโอไวส์ปรากฏในช่วงรุ่งเช้า ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ตำแหน่งใกล้ขอบฟ้ามาก สังเกตได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากเพิ่งโคจรผ่านจุดที่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด จึงถูกแสงอาทิตย์กลบ แต่ในช่วงครึ่งหลัง ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา ดาวหางนีโอไวส์เปลี่ยนมาปรากฏในช่วงหัวค่ำ หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ หลายพื้นที่เริ่มสังเกตเห็นและบันทึกภาพได้ นับจากวันดังกล่าว ดาวหางจะมีความสว่างลดลง เนื่องจากโคจรห่างจากดาวงอาทิตย์ออกไปเรื่อย ๆ

ในวันที่ 23 กรกฎาคม เป็นโอกาสดีที่คนไทยจะได้ยลโฉมและบันทึกภาพความสวยงามของดาวหางดวงนี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่ดาวหางเข้าใกล้โลกที่สุด หลังจากนั้นความสว่างจะลดลงเรื่อย ๆ จนไม่สามารถสังเกตเห็นได้ ในวันดังกล่าว ตรงกับคืนดวงจันทร์ขึ้น 2 ค่ำ อาจมีแสงจันทร์รบกวนเล็กน้อย แต่อุปสรรคสำคัญที่สุดคือสภาพอากาศของประเทศไทยซึ่งอยู่ในช่วงฤดูฝนที่มีเมฆมาก บริเวณใกล้ขอบฟ้ามีเมฆปกคลุมค่อนข้างหนา

สำหรับสถานที่เก็บภาพดาวหางนีโอไวส์ นายศุภฤกษ์ แนะนำว่าควรเป็นสถานที่ที่ฟ้าใส ไม่มีเมฆบดบัง เป็นพื้นที่ค่อนข้างสูง มีมุมมองเปิดกว้างไปทางทิศตะวันตก และสิ่งสำคัญที่สุดของการถ่ายภาพดาวหางคือ ต้องหาตำแหน่งให้เจอ

“ดาวหางนีโอไวส์” หรือ C/2020 F3 (NEOWISE) เป็นดาวหางคาบยาว จากข้อมูลล่าสุดพบว่าโคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบใช้เวลาประมาณ 6,767  ปี ค้นพบโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศไวส์ (Wide-field Infrared Survey Explorer : WISE) ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์ในช่วงคลื่นอินฟราเรด ในโครงการสำรวจประชากรดาวเคราะห์น้อยและวัตถุใกล้โลก ถูกค้นพบเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 เคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ที่ระยะห่าง 43 ล้านกิโลเมตร และจะเคลื่อนที่เข้าใกล้โลกที่สุด ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ที่ระยะห่าง 103 ล้านกิโลเมตร ซึ่งตามที่นักดาราศาสตร์ได้คำนวณค่าอันดับความสว่างปรากฏของดาวหางนีโอไวส์ ขณะนี้ได้ผ่านช่วงสว่างมากที่สุดไปแล้ว  แต่จากการสังเกตการณ์จริงพบว่าความสว่างไม่ได้ลดลงดังเช่นที่คำนวณไว้  จึงส่งผลดีต่อผู้สังเกตบนโลกที่จะยังคงมองเห็นดาวหางปรากฏสว่าง นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 13 กรกฏาคม 2563 ที่ผ่านมา Planetary Science Institute’s Input/Oput facility  ยังพบว่า ดาวหางนีโอไวส์ปรากฏหางฝุ่นและหางไอออนแยกออกจากกันอย่างชัดเจน  สำหรับหางไอออนนั้นพบว่าเป็นหางโซเดียม จะสามารถสังเกตเห็นเฉพาะดาวหางที่สว่างมากๆ เท่านั้น ดังเช่น ดาวหางเฮล-บอปป์ (Hale–Bopp) และ ดาวหางไอซอน (ISON) และจากการศึกษาในย่านรังสีอินฟราเรดพบว่านิวเคลียสของดาวหาง มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 กิโลเมตร มีขนาดใกล้เคียงกับดาวหางสว่างในอดีตอย่าง ดาวหางเฮียกูตาเกะ (Hyakutake) และดาวหางคาบสั้นอื่นๆ อีกหลายดวง