วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2567

พาสปอร์ตอันดับต้นๆ ของโลกเฉิดฉายน้อยลงในโลกยุคหลังโรคระบาด

Social Share

Comparison: Q3 2020 HPI visa-free scores (with no travel restrictions) vs visa-free scores with EU travel restrictions only (PRNewsfoto/Henley & Partners)

ลอนดอน, 7 ก.ค. 63 : เมื่อหลายพื้นที่ของโลกเริ่มเปิดพรมแดน จึงมีการโฟกัสไปที่เสรีภาพในการเดินทางและการเคลื่อนที่ทั่วโลกว่าจะเป็นอย่างไรในโลกยุคหลังโควิด-19 โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สหภาพยุโรป (EU) ได้เผยรายชื่อประเทศที่อนุญาตให้เดินทางเข้า EU ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์สุขภาพและความปลอดภัยเป็นสำคัญ ซึ่งประกอบด้วยออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่ปกติมีคะแนนสูงใน Henley Passport Index หรือการจัดอันดับพาสปอร์ตทั่วโลกโดยพิจารณาจากจำนวนจุดหมายที่เดินทางเข้าได้โดยไม่ต้องมีวีซ่า อย่างไรก็ตาม สืบเนื่องจากการถูกวิจารณ์อย่างหนักเรื่องการรับมือกับโรคระบาดที่ย่ำแย่ ทำให้สหรัฐถูกถอดออกจากรายชื่อประเทศที่เดินทางเข้ายุโรปได้ เช่นเดียวกับบราซิลและรัสเซีย

แม้จะไม่ได้สะท้อนในการจัดอันดับล่าสุด ซึ่งปกติแล้วไม่ได้คำนึงถึงคำสั่งห้ามเดินทางชั่วคราว แต่ก็เป็นเรื่องที่เปิดหูเปิดตาว่าเสรีภาพในการเดินทางในปัจจุบันเป็นอย่างไรสำหรับผู้ที่ถือหนังสือเดินทางที่ครั้งหนึ่งเคยทรงเกียรติ โดยปกติแล้วพาสปอร์ตของสหรัฐจะติดทำเนียบท็อป 10 โดยที่ประชาชนสามารถเดินทางไป 185 จุดหมายโดยไม่ต้องขอวีซ่า อย่างไรก็ดี ภายใต้มาตรการแบนของ EU ในปัจจุบัน ทำให้ชาวอเมริกันมีเสรีภาพในการเดินทางพอ ๆ กับพลเมืองอุรุกวัยและเม็กซิโก (อันดับ 28 และ 25 ตามลำดับ)

ส่วนพลเมืองรัสเซีย ซึ่งโดยปกติพาสปอร์ตรัสเซียจะอยู่อันดับสูงกว่าประเทศอย่างจอร์เจียและแอลเบเนีย (ทั้งสองประเทศอยู่ในลิสต์ของ EU) จะเห็นว่าพาสปอร์ตของพวกเขาจัดอยู่ในขั้นอ่อนแอที่สุดชาติหนึ่งในภูมิภาค ขณะที่ผู้ถือหนังสือเดินทางบราซิล ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้อยู่ในอันดับ 19 ของดัชนี ปัจจุบันมีเสรีภาพในการเดินทางพอ ๆ กับพลเมืองปารากวัยซึ่งอยู่ในอันดับ 36

หากไม่พิจารณามาตรการแบนการเดินทางในปัจจุบัน ญี่ปุ่นยังคงรั้งอันดับ 1 ใน Henley Passport Index ด้วยคะแนน 191 ส่วนสิงคโปร์ยังอยู่ในอันดับ 2 ขณะที่เยอรมนีและเกาหลีใต้ครองอันดับ 3 ร่วม อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์ไม่อยู่ในลิสต์ของ EU ดังนั้นชาวสิงคโปร์จึงมีเสรีภาพในการเดินทางน้อยกว่าคู่แข่งที่มีอันดับใกล้ ๆ กันในดัชนีดังกล่าว ซึ่งอาศัยข้อมูลเฉพาะจากสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA)

Dr. Christian H. Kaelin ประธาน Henley & Partners และผู้คิดค้นแนวคิดดัชนีหนังสือเดินทางดังกล่าว กล่าวว่า การตัดสินใจล่าสุดของ EU บ่งชี้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยุ่งยากขึ้นตามมา “ดูพาสปอร์ตสหรัฐเป็นตัวอย่าง โดยเมื่อปี 2014 พาสปอร์ตสหรัฐขึ้นแท่นอันดับ 1 ในดัชนีของเรา แต่ปัจจุบันพลเมืองสหรัฐมีเสรีภาพในการเดินทางน้อยกว่าพลเมืองประเทศอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยส่วนใหญ่ หรือแม้แต่ประเทศที่พัฒนาน้อยกว่าบางประเทศเมื่อเดินทางเข้ายุโรปไม่ได้ ซึ่งในช่วงหลายเดือนข้างหน้า เราจะได้เห็นการจัดอันดับการเดินทางทั่วโลกใหม่ โดยที่ประเทศที่มีการจัดการกับโรคระบาดได้มีประสิทธิภาพจะมีคะแนนนำ ขณะที่ประเทศที่รับมือได้แย่จะมีคะแนนตามหลัง”

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า วิกฤตโควิด-19 น่าจะทำให้การเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศถูกควบคุมมากขึ้นและคาดเดายากยิ่งขึ้นในระยะยาว โดย Prof. Dr. Yossi Harpaz ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ กล่าวว่า “แม้ประเทศต่าง ๆ จะเปิดพรมแดนแล้ว แต่ก็คาดว่ารัฐบาลของหลายประเทศจะพิจารณาข้อมูลการระบาดของโรค เพื่อออกมาตรการจำกัดการเข้าเมืองและแบนการเดินทางที่เจาะจงสัญชาติ โดยมุ่งเป้าไปที่พลเมืองของประเทศกำลังพัฒนาเป็นหลัก”  พร้อมระบุถึงการตัดสินใจล่าสุดของ EU เกี่ยวกับสหรัฐและประเทศอื่น ๆ ว่า “พาสปอร์ตของทั้งประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาแล้วมีค่าน้อยลง อย่างน้อยก็ชั่วคราว ในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนเช่นนี้ คาดว่าการถือสองสัญชาติและวีซ่านักลงทุนจะได้รับความต้องการเพิ่มขึ้นทั่วโลก”

Dr. Juerg Steffen ซีอีโอ Henley & Partners กล่าวว่า สำหรับนักลงทุนและครอบครัวของพวกเขาแล้ว “การมีสัญชาติที่สองหรือมีที่อยู่อาศัยทางเลือกจะเป็นสินทรัพย์ที่มีค่ามากกว่าแต่ก่อน เมื่อความกังวลเกี่ยวกับการเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพชั้นเลิศ การเคลื่อนย้ายทั่วโลก และคุณภาพชีวิตเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ถือกำเนิดขึ้นใหม่”