วันเสาร์, 23 พฤศจิกายน 2567

(คลิป) รมว.วราวุธ เปิดกิจกรรม “กาดนัดความรู้…สู้หมอกควัน” เน้นย้ำให้องค์ความรู้กับประชาชน ขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันแก้ปัญหา

Social Share

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดกิจกรรมงานตลาดนัดวิชาการ “กาดนัดความรู้…สู้หมอกควัน” เน้นย้ำให้องค์ความรู้กับประชาชน ที่ผ่านมาแก้ปัญหาไม่ตรงจุดเสียงบปีละหลายหมื่นล้าน ต้องมุ่งเน้นลดการเผา ย้ำทุกฝ่ายต้องร่วมมือแก้ปัญหา และยอมรับ 10 กว่าปีที่ผ่านมาประสบความล้มเหลว เพราะไม่มีเครื่องวัด PM2.5

5 มี.ค. 63 : ที่สวนสาธารณะหนองบวกหาด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดําเนิน รายการ Talk to Top Go Green Together Vol.2 ท็อปชวนทอล์ค “การสื่อสารปัญหาฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ” ร่วมกับนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยประชาชน หน่วยงานภาครัฐ และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยหลายแห่ง นำนวัตกรรมและงานวิจัย มาจัดแสดงโชว์ภายในงานด้วย

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนในการมีส่วนร่วม ในการเฝ้าระวังและจัดการปัญหาหมอกควันภาคเหนือลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสุขภาพอนามัยของ ประชาชน ให้ทราบแนวทางในการป้องกันตนเองเมื่อสถานการณ์เข้าสู่ช่วงวิกฤต เพื่อประชาสัมพันธ์ แนวทางและช่องทางในการรายงานและแจ้งเตือนสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ ประจําปี 2563 และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลคุณภาพอากาศและฝุ่น PM2.5 รวมถึงเกณฑ์มาตรฐานที่เกี่ยวข้อง เพราะปัญหาการเกิดไฟป่าในภาคเหนือยังคงมาจากเรื่องของการลักลอบเผา ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่ควบคุมไม่ได้ก็คือเรื่องของฝุ่นที่ลอยมาจากจังหวัดใกล้เคียง และประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งต้องควบคุมในพื้นที่ให้ได้ก่อน และสร้างความตระหนักถึงป่าไม้ว่าเป็นแหล่งต้นน้ำ ทุกวันนี้หลายหน่วยงาน ต่างก็เร่งปลูกป่า สร้างฝาย สร้างอ่างเก็บน้ำ เพราะภัยแล้ง มีน้ำไม่เพียงพอ เสียงบประมาณปีละหลายพันล้าน หลายหมื่นล้านบาท เพราะการจัดการปัญหาไม่ตรงจุด เนื่องจากสาเหตุหลักมาจากป่าต้นน้ำถูกทำลาย ดังนั้น หากจะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ทุกคนต้องร่วมกันอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ที่จะได้พื้นที่สีเขียว อากาศบริสุทธิ์ และยังมีน้ำให้ใช้ไม่เกิดภัยแล้งด้วย

ที่ผ่านมาต้องยอมรับกรมควบคุมมลพิษ เกิดความผิดพลาดเพราะไม่มีเครื่องวัด PM2.5 ทำให้ 10 กว่าปี ประเทศไทยจึงไม่ได้พูดถึงเรื่อง PM2.5 มีแต่เพียง PM10 ที่ใช้กันมาต่อเนื่อง กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ถึงจะมีเครื่องวัด PM2.5 ออกมาแจ้งเตือนให้กับพี่น้องประชาชน

นอกจากนี้มีเวทีล้อมวงพูดคุย ในหัวข้อ การสื่อสารปัญหาหมอกควันและไฟป่าตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง และการจัดนิทรรศการให้ความรู้ในรูปแบบตลาดนัดวิชาการ “กาดนัดความรู้ สู้หมอกควัน” ที่รวบรวมองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการจัดการปัญหาหมอกควันและไฟป่า การจัดการปัญหาต้นทาง ได้แก่ ฐานเรียนรู้ถ่านอัดแท่งชีวมวล โดยบริษัท VNP พาวเวอร์ โปรดักชั่น จํากัด ฐานเรียนรู้เห็ดคืนถิ่น โดยศูนย์วิจัยเห็ดป่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ฐานเรียนรู้ การส่งเสริมจัดการเชื้อเพลิง โดย SCG ลําปาง ฐานเรียนรู้การผลิตจานใบไม้ โดย ณคอรลําพูน การจัดการปัญหากลางทาง ได้แก่ ฐานเรียนรู้ระบบติดตามและรายงานสถานการณ์คุณภาพ อากาศด้วยข้อมูลดาวเทียม (AQMRS) ความเข้มข้นเชิงพื้นที่ฝุ่น PM2.5 โดยโครงการวิจัยศึกษา และพัฒนาระบบรายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฐานเรียนรู้ Web Application อากาศบ้านเฮา โดยสํานักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1-3

การจัดการปัญหาปลายทาง ได้แก่ ฐานเรียนรู้เครื่องตรวจวัดฝุ่น PM2.5 โดยหน่วยวิจัยบูรณา การด้านหมอกควัน (SHIRU) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฐานเรียนรู้หน้ากากป้องกันฝุ่น PM2.5 โดยคณะทํางานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และฐานเรียนรู้เครื่องเป่าดับไฟป่าและทําแนวกันไฟ โดยกรมป่าไม้