วันจันทร์, 25 พฤศจิกายน 2567

หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ THE CHIANGMAI CHAMBER Of COMMERCE ภาวะเศรษฐกิจการเงินจังหวัดเชียงใหม่ ไตรมาสที่ 4 ปี 2562

Social Share

หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ THE CHIANGMAI CHAMBER Of COMMERCE ภาวะเศรษฐกิจการเงินจังหวัดเชียงใหม่ ไตรมาสที่ 4 ปี 2562

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินจังหวัดเชียงใหม่ชะลอตัวมาก การบริโภคภาคเอกชนขาดกำลังซื้อจากรายได้เกษตรที่ลดลง ภาระหนี้สินของครัวเรือน ความเข้มงวดการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน การใช้จ่ายสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันชะลอตัวจนถึงหดตัว  มีเพียงภาคท่องเที่ยวที่เป็นกำลังซื้อสำคัญ แต่เริ่มชะลอตัวลงช่วงปลายไตรมาสตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีน สำหรับมาตรการภาครัฐเพียงช่วยพยุงกำลังซื้อ ในช่วงปลายไตรมาสผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นมาก การใช้จ่ายในสินค้าคงทนหมวดยานยนต์หดตัวมากทุกประเภท สำหรับการลงทุนภาคเอกชนหดตัวต่อเนื่องทั้งการก่อสร้างและการลงทุนในเครื่องจักรอุปกรณ์  ส่วนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐบาลหดตัว เนื่องจากความล่าช้าของพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2563

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ ดังนี้

ภาคอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ชะลอลงมาก เนื่องจากขาดกำลังซื้อทั้งในและนอกภาคเกษตร จากภาระหนี้สินของครัวเรือน การขาดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน โดยการใช้จ่ายสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันชะลอจนถึงหดตัว มีเพียงภาคท่องเที่ยวที่เป็นกำลังซื้อสำคัญ แต่ก็ชะลอลงช่วงปลายไตรมาส สำหรับมาตรการภาครัฐเพียงช่วยพยุงกำลังซื้อ การใช้จ่ายสินค้าคงทนหมวดยานยนต์หดตัวมากทุกประเภท ช่วงปลายไตรมาสทั้งรถยนต์เชิงพาณิชย์  รถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์ โดยลดลงร้อยละ 15.3 – 43.7 เป็นที่น่าสังเกตว่าธุรกิจการตลาดแบบ on-line จัดส่งอาหารตามบ้าน (food delivery) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นและร้านอาหารที่จำหน่ายบริการนี้มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ร้านอาหารแบบดั้งเดิมประสบปัญหายอดจำหน่าย     

การท่องเที่ยว ชะลอลงมากโดยเฉพาะช่วงปลายไตรมาส โดยจำนวนผู้โดยสารผ่าน  ท่าอากาศยานเชียงใหม่ลดลงร้อยละ 3.7  นักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานเชียงใหม่ ชะลอลงมากขยายตัวเพียงร้อยละ 1.9 เทียบกับต้นไตรมาสที่เพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 22.4  เป็นผลจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวและค่าเงินบาทที่แข็งค่า อีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากนักท่องเที่ยวจีนใช้บริการผ่านท่าอากาศยานเชียงราย ขณะที่นักท่องเที่ยวชาติอื่นขยายตัวดี เช่น เกาหลีใต้ และเอเชียอื่น ๆ สำหรับนักท่องเที่ยวไทยชะลอลงมากตามภาวะเศรษฐกิจส่วนรวม แต่กระเตื้องขึ้นช่วงปลายปี จากสภาพอากาศที่หนาวเย็น

รายได้เกษตรกรลดลง ผลผลิตข้าวนาปีลดลงร้อยละ 4.9 จากภัยแล้งช่วงเพาะปลูก ส่วนผลผลิตข้าวนาปรังคาดว่าลดลงร้อยละ 47  เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก ผลผลิตพืชชนิดอื่น เช่น กระเทียม ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หอมหัวใหญ่และสตอรเบอร์รี่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ร้อยละ 3.2 ร้อยละ 7.7 และร้อยละ 14.7 ตามลำดับ จากการขยายพื้นที่เพาะปลูกเป็นสำคัญ  ราคาข้าวเปลือกขยายตัวชะลอลงตามความต้องการต่างประเทศลดลง  ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อ่อนตัวตามความต้องการของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์  ราคาพืชผลอื่นลดลงจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้น  ส่วนราคาไก่เนื้อสูงขึ้น ตามความต้องการจากต่างประเทศเพื่อทดแทนสุกรที่ประสบโรคระบาดในต่างประเทศ

ผลผลิตอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อพิจารณาจากเครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญ เช่น เครื่องชี้ภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดอุตสาหกรรมขยายตัวดี เป็นต้น การใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4  ทั้งนี้การผลิตอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มขึ้นตามความต้องการของจีน  ส่วนการผลิตหมวดอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวชะลอลงตามความต้องการจากต่างประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มขยายตัวดี และนำเข้าเครื่องจักรเพิ่มตามจำนวนโรงงานที่เพิ่มและแรงจูงใจจากค่าเงินบาทแข็ง  สำหรับจำนวนโรงงานลดลงมาก เป็นผลจาก พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2562 (ฉบับที่ 2) ซึ่งมีผลบังคับใช้ 27 ต.ค. 2562 กำหนดให้โรงงานที่มีกำลังการผลิตต่ำกว่า 50 แรงม้า ไม่ต้องจดสถานะเป็นโรงงาน เทียบกับระเบียบเดิมที่จดทะเบียนตั้งแต่ 5 แรงม้าขึ้นไป  ทำให้จำนวนโรงงานลดลงมาก

การลงทุนภาคเอกชน หดตัวต่อเนื่อง  แม้จะมีการลงทุนก่อสร้างบ้านอยู่อาศัยแนวราบบ้างบางพื้นที่ แต่ภาคก่อสร้างโดยรวมลดลงมาก เนื่องจากมีที่อยู่อาศัยคงค้างทั้งแนวราบและอาคารสูง แนวโน้มการลงทุนก่อสร้างยังขาดความสนใจลงทุน โดยพื้นที่ขอรับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลหดตัว  อย่างไรก็ดีความต้องการที่อยู่อาศัยของต่างชาติโดยเฉพาะอาคารสูง มีส่วนช่วยพยุงกำลังซื้อ  ด้านการลงทุนเพื่อการผลิตหดตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากเครื่องชี้ปริมาณจดทะเบียนรถบรรทุก รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และมูลค่าการนำเข้าเครื่องจักรโดยรวมที่ลดลง

การใช้จ่ายภาครัฐ หดตัวมาก การใช้จ่ายงบลงทุนลดลงร้อยละ 51.7  โดยเฉพาะหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้าง เนื่องจากความล่าช้าของพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2563  ส่วนรายจ่ายประจำใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ไปพลางก่อน ทำให้รายจ่ายรวม (ไม่รวมเงินเดือน) ลดลงร้อยละ 15.7  ทำให้บทบาทภาครัฐในการกระตุ้นและพยุงเศรษฐกิจอ่อนแรงลงมาก

เสถียรภาพเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนอยู่ที่ร้อยละ 1.3 ตามราคาอาหารสด เช่น ข้าวสารเหนียว ผักและผลไม้ แป้ง  ทางด้านอัตราการว่างงานสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนเล็กน้อยโดยผู้ว่างงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานภาคนอกเกษตร เช่น ค้าส่งค้าปลีก การก่อสร้าง เป็นต้น

ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2562 สาขาธนาคารพาณิชย์ในจังหวัดเชียงใหม่ มียอดคงค้างสินเชื่อรวม 203,484 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2  จากระยะเดียวกันปีก่อน  โดยขยายตัวมากในสินเชื่อส่วนบุคคลและที่อยู่อาศัยเป็นสำคัญ ส่วนสินเชื่อธุรกิจขนส่ง ธุรกิจบริการโรงแรม สินเชื่อก่อสร้างและสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านเงินฝากมีจำนวน 257,876 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.9