วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2567

(คลิป) รมช.เกษตรและสหกรณ์ ดูเขื่อนแม่งัด เชียงใหม่ ย้ำต้องหาอาชีพเสริมให้ชาวบ้านช่วงเกิดภัยแล้ง

Social Share

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ย้ำต้องหาอาชีพเสริมให้ชาวบ้านช่วงเกิดภัยแล้ง ใช้ตลาดนำการเกษตร ให้เกษตรกรมีรายได้ และหาแหล่งน้ำสำรองเพื่อเตรียมไว้หากเกิดภัยแล้งในพื้นที่

12 ม.ค. 63 : นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ติดตาม นโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์ภัยแล้งที่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายสืบพงษ์ นิ่มพูลสวัสดิ์ นายอำเภอแม่แตง และ นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 1 พร้อมคณะ และผู้บริหารสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในจังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วม ประชุม

นายอภิวัฒน์ ภูมิไธสง ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 1 กล่าวรายงานว่า ปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล มีปริมาณน้ำเก็บกัก 149.497 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปี 2562 ที่ผ่านมา และนับสถิติย้อนหลังพบว่าใกล้เคียงกับปี 2522 ขณะที่เขื่อนแม่กวงอุดมราธา ปัจจุบันมีน้ำประมาณ 75.250 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปีที่ผ่านมา และมีปริมาณน้ำเทียบเท่ากับปี 2559 ส่วนอ่างขนาดกลาง 18 แห่ง มีน้ำรวมกันประมาณ 78.02 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 31 เปอร์เซ็นต์ อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 193 แห่ง มีน้ำรวมกันประมาณ 64.37 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 55 เปอร์เซ็นต์

โดยทางชลประทานได้มีการแบ่งการบริหารจัดการน้ำไว้ทั้งหมด 5 ข้อคือ 1.จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้ง 2.จัดสรรน้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศในช่วงฤดูแล้ง 3.สำรองน้ำไว้สำหรับการใช้ในช่วงต้นฤดูฝน (เดือน พ.ค. – ก.ค.) 4.จัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรกรรม และ 5.จัดสรรน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม โดยจะมุ่งเน้นการจัดสรรน้ำข้อ 1 – 3 เป็นหลักก่อน

ส่วนแผนการเพาะปลูกในพื้นที่ มีแผนปลูก จำนวน 149,986 ไร่ การบริหารจัดการน้ำ จะแบ่งเป็นรอบเวรทั้งหมด 25 รอบเวร ตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค. – 1 ก.ค. 63 ส่งน้ำในพื้นที่โครงการแม่แฝก-แม่งัด จำนวน 45 ล้าน ลบ.ม. โดยใช้เพื่อการอุปโภค 1 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการเกษตร จำนวน 40,286 ไร่ เป็นข้าวนาปรับ 13,286 ไร่ พืชไร่-พืชผัก 6,814 ไร่ ไม้ผล 19,781 ไร่ บ่อปลา 405 ไร่ พื้นที่ตลาดลำน้ำปิง จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน จำนวน 70 ล้าน ลบ.ม. โดยใช้สำหรับผลิตประปา จำนวน 21 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศน์และเพื่อการเกษตร จำนวน 149,986 ไร่ รวม 48 ล้าน ลบ.ม. และอีก 1 ล้าน ลบ.ม.ที่เหลือก็เตรียมไว้เพื่อการท่องเที่ยว

พร้อมกันนี้ก็ได้ขอความร่วมมือเกษตรกรงดปลูกข้าวนาปรัง โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน และขอความร่วมมืองานเพาะเลี้ยงปลาในกระชัง ในแม่น้ำปิง และในระบบชลประทาน ซึ่งจากการประชุมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำและเกษตรกร รวมถึงผู้เลี้ยงปลาในกระชังห้วงที่ผ่านมา ก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี นอกเหนือการบริหารจัดการน้ำแล้ว ก็ได้เตรียมความพร้อมของเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่และรถยนต์บรรทุกน้ำ ให้สามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันทีหากมีการร้องขอ มีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง จำนวน 6 แห่ง ตลอดลำน้ำปิงตั้งแต่เชียงใหม่และลำพูน

ในที่ประชุม นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สอบถามถึงการบริหารจัดการน้ำ และแหล่งน้ำสำรอง จากนั้นก็ได้สั่งการให้เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ขอความร่วมมือเกษตรกรในการงดปลูกข้าวนาปรัง และมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน นอกจากนี้ก็จะประสานปะสานประมงเพื่อให้จัดหาสัตว์น้ำ ทั้งกุ้ง และปลา ไปปล่อยบริเวณด้านหน้าประตูระบายน้ำตั้งแต่เชียงใหม่ – ลำพูน รวม 12 แห่ง เพื่อให้ประชาชนสามารถจับสัตว์น้ำไปบริโภค และจำหน่ายได้ เป็นรายได้เสริมในห้วงระยะเวลา 4 เดือนที่ประสบปัญหาเรื่องสภาวะน้ำน้อย ไม่สามารถปลูกข้าวนาปรัง หรือทำอาชีพอื่นได้

ขณะเดียวกันก็ได้กำชับให้มีการสำรวจและส่งเสริมเรื่องของการปลูกพืชระยะสั้น ใช้พืชอินทรีย์ และต้องหาตลาดรองรับกับพืชผลทางการเกษตรที่ได้ไปส่งเสริมอาชีพด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรว่า เมื่อปลูกแล้วจะมีรายได้จากการปลูก ไม่ควรไปส่งเสริมและไม่มีตลาดรองรับ รวมถึงการสรรหาแหล่งน้ำในพื้นที่ ก็ต้องมีการเตรียมสำรองไว้ให้เพียงพอ แม้ว่าขณะนี้จะมีการบริหารจัดการน้ำที่ดีอยู่แล้ว แต่ภัยแล้งปีนี้มาเร็ว และให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการนำแผงโซลาเซลล์มาใช้ในการทำงานตามจุดต่างๆ เพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงาน ซึ่งการบริหารภาพรวมถือว่าดีมาก เพราะเส้นทางการส่งน้ำจากเขื่อนไปถึงจังหวัดลำพูน มีการวางแผนมาเป็นอย่างดี ที่สำคัญคือน้ำด้านอุปโภค บริโภคต้องไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน เพราะเป็นสิ่งสำคัญ